ชี้เบี้ยอุบัติเหตุสุขภาพโต 7% ส.ประกันดันกรมธรรม์เดินทางออโต้สิ้นปี

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ชี้เทรนด์ปี”61 เบี้ยอุบัติเหตุและสุขภาพโต 6-7% เร่งเครื่องแผนงาน 2 ปี พร้อมผลักดันคลอดกรมธรรม์การเดินทางไปต่างประเทศแบบอัตโนมัติในสิ้นปีนี้ ลุ้นรัฐหนุนทำประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคลชาวต่างชาติ แนะเก็บภาษีนักท่องเที่ยวเหมือนมาเลย์

นายปิติพงศ์ พิศาลบุตร ประธานคณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ในปี 2561 คาดการณ์ว่าเบี้ยประกันอุบัติเหตุและสุขภาพทั้งอุตสาหกรรมจะโตเพิ่มขึ้น 6-7% หรือเบี้ยประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) เพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่อยู่ 28,203 ล้านบาท และเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8,900 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 8,354 ล้านบาท โดยคณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพได้วางแผนปฏิบัติงานในการขับเคลื่อนไว้ 4 เรื่องหลัก

โดยเรื่องแรก คือ การผลักดันกรมธรรม์ประกันภัยการเดินทางไปต่างประเทศแบบอัตโนมัติ (file and use) ซึ่งขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขกรมธรรม์ เพื่อให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

“เราหวังว่าอัตราเบี้ยประกันจะถูกกว่าในปัจจุบัน ปัจจุบันคนไทยเดินทางไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น คปภ.จึงอยากให้กรมธรรม์ตัวนี้เป็นมาตรฐานที่ง่าย ไม่ใช่ 10 บริษัท 10 แบบ เราเองก็ไม่ได้ขัดข้อง แต่ของเดิมที่มีอยู่ก็ยังสามารถขายต่อได้ แต่ในอนาคตจะค่อย ๆ ลดลง” นายปิติพงศ์กล่าว

ส่วนเรื่องที่ 2 คือ เร่งผลักดันการประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคลสำหรับต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อการพำนักระยะยาว (long stay visa) โดยบังคับต่างชาติที่เข้ามาพำนักตั้งแต่ 1 ปี ต้องทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันในไทย และจะต้องมีความคุ้มครองตลอดเวลาที่พำนักอยู่ในประเทศ โดยมีจำนวนเงินเอาประกันสำหรับค่ารักษาพยาบาลในกรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 บาท และในกรณีผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อภาครัฐ

“เรื่องประกันต่างชาตินี้ สมาคมได้เสนอรายละเอียดไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขพิจารณา และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ” นายปิติพงศ์กล่าว

ขณะที่เรื่องที่ 3 สมาคมได้พัฒนาระบบประกันอุบัติเหตุสำหรับต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยด้วยวิธีการออกกฎหมายให้ซื้อประกันอุบัติเหตุภาคบังคับเพื่อพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (medical hub) โดยได้ดำเนินการจัดทำแผนคุ้มครองพร้อมอัตราเบี้ยประกันเสนอให้ คปภ. ในเบื้องต้น 2 แนวทาง ได้แก่ 1.ไม่มีค่ารักษาพยาบาลแต่ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตอยู่ที่ 1 ล้านบาท/ราย และแบบมีค่ารักษาพยาบาลและ 2.ข้อเสนอตามระเบียบการจ่ายเงินกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ พ.ศ. 2558 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบความคุ้มครองของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยข้อเสนอทั้งหมดอัตราเบี้ยประกันเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 10-99 บาท/ทริปการเดินทาง

“ผมมองว่าอยากจะให้จัดเก็บภาษีนักท่องเที่ยว (tourist tax) เช่นเดียวกับที่มาเลเซียที่เก็บเงินราว 80-90 บาท/วัน เพื่อจะนำเงินส่วนนี้ไปฟื้นฟูธรรมชาติ และจ่ายเคลมให้นักท่องเที่ยวเมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่ ๆ” นายปิติพงศ์กล่าว

ส่วนเรื่องสุดท้าย สมาคมได้เปิดโครงการอบรมหลักสูตรการประกันภัยอุบัติเหตุ และการประกันภัยสุขภาพรุ่นที่ 1 เพื่อส่งเสริมความรู้ให้กับบุคลากรในธุรกิจประกันวินาศภัยที่ได้มาตรฐานมากขึ้น โดยเรียนรู้ตั้งแต่การบริหารความเสี่ยง, การรับประกันภัย, การเข้าใจเงื่อนไขกรมธรรม์, การเคลม เพื่อบูรณาการให้เข้าใจในทุกมิติของการรับประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ ซึ่งจะจัดทำเป็น pre-test และ post-test เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยได้จัดเป็นหลักสูตรอบรมตลอดเดือน ส.ค.นี้

นายปิติพงศ์กล่าวด้วยว่า ในปีนี้สมาคมได้กระตุ้นให้สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ ๆ คิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพมากขึ้น โดยกลุ่มสตาร์ตอัพสามารถเข้ามาเสนอผลงานเพื่อขอคำแนะนำได้ ซึ่งจะทำให้ผลงานดังกล่าวถูกกลั่นกรองเหมาะสมในการนำไปเสนอให้กับภาคธุรกิจ และถือเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันธุรกิจประกันภัยไทยได้ในอนาคตต่อไป