“นภา จินดาชริน” เลขาฯคู่บุญผู้ว่าแบงก์ชาติ 4 สมัย

ขึ้นชื่อว่าเบอร์หนึ่งขององค์กร ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน มักจะมีเลขานุการคู่บุญที่รู้ใจและติดตามกันไปทุกที่

แต่สำหรับ คุณนภา จินดาชริน หรือ “พี่ใหญ่” กลับเป็นบุคคลที่ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งผู้ว่าการปรีดิยาธร เทวกุล ,ผู้ว่าการธาริษา วัฒนเกส ,ผู้ว่าการประสาร ไตรรัตน์วรกุล และผู้ว่าการวิรไท สันติประภพ คนปัจจุบัน ได้ไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่และช่วยเหลือภารกิจอันสำคัญยิ่งในฐานะ “เลขานุการผู้ว่าการ” อย่างต่อเนื่อง

ทั้ง ๆ ที่ผู้ว่าการทั้ง 4 ท่านสามารถเลือกเลขาฯคนใหม่ หรือให้เลขาฯ เดิมที่เคยทำงานด้วยกันมารับหน้าที่นี้ก็ได้ จึงเป็นความพิเศษและน่าสนใจอย่างยิ่งที่ผู้ว่าการทุกท่านกลับเลือกให้พี่ใหญ่ปฏิบัติหน้าที่นี้

BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับเกียรติจากคุณนภา จินดาชริน ร่วมพูดคุยและถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานในฐานะเลขาฯ ผู้ว่าการ กว่า 18 ปี รวมทั้งให้หลักคิดในการทำงานที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจอย่างยิ่ง

เส้นทางก่อนจะมาเป็น “เลขาฯ ผู้ว่าการ”

พี่ใหญ่เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่กองบรรณาธิการสำนักข่าวไทย องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) ตั้งแต่ปี 2521 ก่อนจะมาทำงานที่ ธปท. ในปี 2528 ตำแหน่งพนักงานสารบรรณ หน่วยการเงินระหว่างประเทศ ฝ่ายวิชาการ (ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศในปัจจุบัน) ต่อมาในปี 2533 ดร.เกลียวทอง เหตระกูล รองผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิชาการในสมัยนั้น ขอให้พี่ใหญ่ไปช่วยงานท่านในฐานะเลขาฯ รวมทั้งดูแลผู้บริหารในฝ่ายฯ อีก 3 ท่านไปพร้อมกัน หลังจากนั้น ในปี 2536 พี่ใหญ่ได้รับเลือกให้เป็นเลขาฯดร.ศิริ การเจริญดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ และได้ปฏิบัติหน้าที่เลขาฯ ของท่านเรื่อยมา แต่หลังจากประเทศไทยประสบกับวิกฤติต้มยำกุ้ง จนเป็นเหตุให้ผู้บริหาร ธปท. ในสมัยนั้นหลายท่านตัดสินใจลาออก เพื่อแสดงสปิริตของคน ธปท. พี่ใหญ่จึงได้ขอย้ายมาทำงานในสายงานปกติ

“พี่เห็นนาย ๆ ทำงานเพื่อประเทศกันหนักมาก แต่สุดท้ายต้องลาออกจาก ธปท. พี่รู้สึกสะเทือนใจและไม่อยากเป็นเลขาฯ ใครอีก จึงออกจากงานเลขาฯ มาทำงานในแผนกปกติอยู่หลายปี”

รับตำแหน่ง “เลขาฯ ผู้ว่าการ” แบบไม่ทันตั้งตัว

ในปี 2544 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้เข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการ ธปท. ท่านจึงมองหาเลขาฯ ที่จะมาช่วยงาน จึงขอให้ผู้บริหาร ธปท. ส่งรายชื่อและประวัติคที่เหมาะสมไปให้พิจารณา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีพี่ใหญ่ด้วย

“พี่จำวันนั้นได้ไม่เคยลืม พี่ส่งประวัติให้ผู้ใหญ่ตอนเช้า บ่ายวันเดียวกันก็มีโทรศัพท์มาถึงพี่ ปลายเสียงคือ ท่านผู้ว่าการปรีดิยาธร “ผมอุ๋ยนะครับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ผมขอให้คุณนภามาทำหน้าที่เลขาฯ ให้ผมนะครับ วันนี้ขอให้ช่วยจัดห้องทำงานและเตรียมเรื่องวีซ่าสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศด้วยครับ พรุ่งนี้ไปพบผมที่หน้าห้องทำงานนะครับ”

“พี่ตื่นเต้นมาก เรียกว่า อึ้งไปเลย ไม่คิดว่าจะได้รับเลือก แต่เมื่อต้องทำหน้าที่เลขาฯ ผู้ว่าการ ก็ต้องทำให้ได้และทำให้ดีที่สุดให้สมกับความไว้วางใจที่ได้รับ ตอนไปรายงานตัว ท่านผู้ว่าการดูประวัติแล้วก็ไม่ได้ติดใจอะไร เพียงแต่บอกว่าอายุมากไปหน่อย ปกติเลขาฯ อายุไม่ควรเกิน 35 (หัวเราะ) ซึ่งขณะนั้นพี่อายุ 43 ปีแล้ว
จึงเรียนท่านไปว่า ‘ท่านเปลี่ยนได้นะคะ’ แต่ท่านก็ไม่เปลี่ยนและเชื่อมั่นว่าพี่ทำหน้าที่นี้ได้ ชีวิตเลขาฯ ผู้ว่าการของพี่ก็เริ่มตั้งแต่วันนั้น”

เทคนิคในการปรับตัวและวางตัว ให้สามารถทำงานกับผู้ว่าการทั้ง 4 ท่าน

“ท่านผู้ว่าการทุกท่านเป็นคนเก่ง และมุ่งมั่นทำงานเพื่อ ธปท. และประเทศชาติ แต่ก็มีวิธีการทำงานที่ต่างกัน พี่ต้องพยายามเรียนรู้วิธีคิด วิธีทำงาน การบริหารเวลา อุปนิสัย กิจวัตร แม้กระทั่งรสนิยม จากทั้งเลขาฯ เดิมของท่าน จากผู้ใกล้ชิด และจากการสังเกตของเราเองด้วย ซึ่งพี่เองก็ต้องปรับตัว เปิดใจ รับฟัง ขณะเดียวกัน พี่ก็ต้องกล้าถาม กล้าที่จะเสนอความเห็นเช่นกัน เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับท่าน ที่สำคัญการทำงานกับผู้ใหญ่ระดับนี้ การเก็บความลับเป็นเรื่องสำคัญมาก พี่จะไม่เล่าเรื่องในที่ทำงานให้ใครฟังแม้กระทั่งคนในบ้านพี่”

ในช่วงที่ผู้ว่าการแต่ละท่านเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ในฐานะเลขาฯ ได้ช่วยสนับสนุนท่านอย่างไรบ้าง?

“กำลังใจ คือ สิ่งสำคัญที่สุด นอกเหนือจากการตั้งใจทำงานอย่างสุดความสามารถเท่าที่จะแบ่งเบาภาระท่านได้ กำลังใจจากพนักงานทุกคนที่แสดงออกมา เป็นพลังให้ท่านผู้ว่าการยืนหยัดในการทำงาน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศได้อย่างดี และผู้ว่าการทุกท่านทำงานแบบไม่ได้หวงแหนเก้าอี้ จึงสามารถตัดสินใจบนหลักการที่ถูกต้อง”

ทำไมผู้ว่าการแต่ละท่านเลือกพี่ใหญ่เป็น “เลขานุการ” คู่บุญ?

“คงจะเป็นบุพเพสันนิวาส (หัวเราะ) พี่ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่งทุกครั้งที่เปลี่ยนผู้ว่าการ พี่จะเก็บของเตรียมพร้อมไว้เลย เพราะทุกท่านมีสิทธิเลือกเลขาฯ ที่เหมาะกับท่าน แต่ด้วยความเมตตาและไว้วางใจ คำตอบที่ได้รับคือ ‘ขอใช้ทีมงานชุดเดิม’ ทำให้พี่อยู่ในตำแหน่งเลขาฯ ผู้ว่าการ ตั้งแต่ปี 2544 – 2561”

ในการทำหน้าที่เลขาฯ ผู้ว่าการ งานใดที่ภูมิใจที่สุด?

“จริง ๆ แล้ว งานในตำแหน่งนี้ไม่ได้เป็นงานที่ดูยิ่งใหญ่ แต่เป็นงานที่ต้องมีความรับผิดชอบสูงและพลาดไม่ได้ แต่ถ้าถามว่า ภูมิใจอะไรมากที่สุด คงจะตอบว่า ภูมิใจที่ได้รับความไว้วางใจจากองค์กร และได้รับเกียรติจากท่านผู้ว่าการทั้ง 4 ท่าน ที่ให้โอกาสพี่ได้ดูแลท่านและนี่คือความภูมิใจสูงสุดในชีวิตการทำงาน”

ในวาระที่กำลังจะเกษียณ พี่ใหญ่อยากจะฝากอะไรกับน้อง ๆ เลขาฯ และพนักงานรุ่นใหม่บ้าง?

“เมื่อมีโอกาสพี่มักบอกน้อง ๆ เสมอว่า การเป็นเลขาฯ นั้น ยิ่งนายเราใหญ่ เรายิ่งต้องทำตัวให้เล็ก เวลาไปขอความร่วมมือใคร ก็จะได้รับการช่วยเหลือ ความนอบน้อมจะทำให้เราได้รับความเมตตาจากผู้อื่น การเป็นเลขาฯ ไม่ใช่แค่ดูแลนายของตัวเองเท่านั้น แต่ต้องดูแล เอาใจใส่ และช่วยเหลือผู้ที่มาติดต่อด้วย”
“และในการทำงาน เราไม่สามารถทำงานเก่งเพียงคนเดียวได้ แต่ต้องร่วมมือร่วมใจ ประสานพลัง เพื่อให้ ธปท. เป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือและประชาชนไว้วางใจตลอดไป”

 

ที่มา :BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับประจำเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2561