คลังจี้ คปภ.ดันไทย “ฮับประกัน” ลุ้นมาตรการภาษีล่อใจรีอินชัวเรอร์ย้ายฐาน

“อภิศักดิ์” จี้ คปภ.เร่งศึกษาดันไทยเป็น “ฮับประกันภัย” สั่งคิดมาตรการดึงธุรกิจรีอินชัวเรอร์จากสิงคโปร์มาตั้งในไทย ทั้งมาตรการภาษีและอื่น ๆ หวังดึงเม็ดเงินไว้ไม่ให้ไหลออกนอกประเทศ วงในธุรกิจประกันเผยเม็ดเงินทำประกันภัยต่อปีละ 6 พันล้าน ติงไทยคิดช้าไป 30 ปี

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ให้การบ้านทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ไปศึกษาแนวทางการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ของธุรกิจประกันภัย ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ในการที่จะให้มีบริษัทประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอร์) ในประเทศมากขึ้น เพื่อที่จะรองรับเม็ดเงินลงทุนโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศมากมาย ส่วนจะใช้การออกมาตรการจูงใจดึงให้รีอินชัวเรอร์ที่อยู่ในต่างประเทศย้ายฐานมาอยู่เมืองไทย หรือรูปแบบอื่น ๆ ยังต้องรอให้ทาง คปภ.กลับมาเสนอผลศึกษาก่อน

“ตอนนี้ประเทศไทยจะมีการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นมากมาย บวกกับเงินของภาคเอกชนอีกมากใน EEC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนต้องมีการทำประกันทั้งสิ้น แต่ปัจจุบันเงินส่วนใหญ่จะถูกรี (ทำประกันภัยต่อ) ไปต่างประเทศ เพราะในประเทศไม่สามารถรับได้หมด แล้วก็ปรากฏว่าสิงคโปร์ก็ไปเปิดรับประกันภัยต่อใหญ่โตเลย ทุกอย่างก็ไหลไปที่เขาหมด ก็เลยตั้งคำถามกับ คปภ.ที่เป็นผู้ดูแลอุตสาหกรรมนี้ว่าต้องคิดไหม ว่าควรวาง landscape ของอุตสาหกรรมอย่างไร ก็ต้องรอเขาเสนอมา ตอนนี้ยังไม่เสนอ ซึ่งเรื่องนี้ได้ให้ไปศึกษาตั้งแต่เมื่อ 2 เดือนมาแล้ว” นายอภิศักดิ์กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันภัยในไทยจะรับความเสี่ยงไว้เองน้อย แต่จะส่งไปทำประกันภัยต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสิงคโปร์เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากรีอินชัวเรอร์ในไทยมีขนาดเล็ก จึงค่อนข้างมีข้อจำกัดในการรับประกันภัยต่อ ซึ่งที่ผ่านมา รมว.คลังได้เรียกทาง คปภ.มาประชุมและส่งให้ไปศึกษาเรื่องนี้ ทั้งนี้ คปภ.น่าจะได้ข้อสรุปกลับมาเสนอคลังพิจารณาในเร็ว ๆ นี้

“ปกติจะมีโบรกเกอร์ (นายหน้าประกันภัย) เป็นผู้มารับ แล้วไปส่งต่อรีอินชัวเรอร์ในต่างประเทศ ซึ่งดูตัวเลขแล้วรีออกไปค่อนข้างมาก ดังนั้น รมว.คลังจึงมีไอเดียที่ว่า นอกจากอยากให้เราเป็นฮับประกันภัยแล้ว เงินก็จะได้อยู่ภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับประเด็นที่กำลังศึกษากันอยู่ขณะนี้ก็คือ จะมีมาตรการจูงใจธุรกิจรีอินชัวเรอร์ให้เข้ามาตั้งบริษัทในประเทศไทยได้อย่างไร เช่น มาตรการทางภาษี เป็นต้น ซึ่งอย่างน้อยแม้ผู้ประกอบการจะยังทำธุรกิจอยู่ในสิงคโปร์เหมือนเดิม แต่ก็ขอให้มาตั้งในประเทศไทยด้วย เพื่อจะได้เป็นศูนย์กลางรับประกันภัยต่อ อย่างน้อยก็ให้ครอบคลุมกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม)

ด้านแหล่งข่าวจากวงการธุรกิจประกันภัยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันวินาศภัยส่งประกันภัยต่อไปต่างประเทศประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท/ปี (ประมาณ 178 ล้านเหรียญสหรัฐ) จึงไม่น่าจะคุ้มค่าที่บริษัทรีอินชัวเรอร์ต่างชาติจะย้ายมาเปิดสำนักงานในไทย เพราะการทำประกันภัยในกลุ่มประเทศ CLMV ก็ยังเล็กอยู่มาก

ทั้งนี้ ปัจจุบันธุรกิจรีอินชัวเรอร์จะกระจุกตัวอยู่ในฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งการจะดึงมาไทยนั้น จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล่าสุดมีการสะท้อนมุมมองว่า อาจจะคิดช้าไปแล้ว เพราะปัจจุบันไม่จำเป็นต้องย้ายธุรกิจมาตั้งในไทย เนื่องจากระบบการบินพัฒนาขึ้นมาก

“ไทยคิดช้าไปราว 20-30 ปีก็ว่าได้ เพราะการเป็นศูนย์กลางธุรกิจประกันภัยต่อจะต้องวางแผนทั้งระบบให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย, หลักเกณฑ์, บุคลากร และด้านภาษี ซึ่งในสิงคโปร์ทำมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ส่งผลให้สามารถย้ายศูนย์กลางมาจากเดิมที่อยู่เฉพาะฮ่องกงได้ ขณะเดียวกันมาเลเซียก็มีการทำเรื่องนี้เมื่อกว่า 10 ปีก่อน แต่พบว่ามีไปจดทะเบียนแค่กระดาษ เพื่อประโยชน์ทางภาษีเท่านั้น แต่ operation ไม่มี ยังคงนั่งทำงานอยู่สิงคโปร์และฮ่องกงเหมือนเดิม” แหล่งข่าวกล่าว