ธปท.เผยไตรมาส 2 แบงก์กำไรพุ่งจากรายได้ดอกเบี้ยสินเชื่อ-กันสำรองลดลง ระบุสินเชื่อขยายตัวขึ้นโดยเฉพาะ SME รายใหญ่-NPL เริ่มทรงตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงาน ของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2561 ว่าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและภาพรวมคุณภาพสินเชื่อทรงตัว สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลง และรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเสถียรภาพ มีเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไปได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบระยะเวลาเดียวกันปีก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวในหลายประเภทธุรกิจโดยเฉพาะจากพอร์ตสินเชื่อ SME ที่วงเงินค่อนข้างสูง สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในทุกพอร์ตสินเชื่อโดยเฉพาะจากการเร่งตัวต่อเนื่องของสินเชื่อรถยนต์ ทั้งนี้ ภาพรวมการระดมทุนผ่านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ และตราสารหนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.6

ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 66.7 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 4.1 เพิ่มขึ้นในหลายประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะจากสินเชื่อธุรกิจ SME ที่วงเงินค่อนข้างสูง แม้การขยายตัวของสินเชื่อ SME ที่มีวงเงินขนาดเล็กปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังกระจุกตัวในบางพื้นที่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวที่ร้อยละ 7.5 จากธุรกิจโรงไฟฟ้า ธุรกิจอาคารชุดที่พักอาศัยและอาคารแฟลตเพื่อขาย และธุรกิจขายส่งสินค้าทั่วไป

สำหรับสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัวที่ร้อยละ 1.8 เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่มีทางเลือกในการระดมทุนผ่านตราสารหนี้และหุ้น ประกอบกับธุรกิจบางส่วนมีการชำระคืนหนี้ อย่างไรก็ดี ธุรกิจขนาดใหญ่บางประเภทมีการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจที่พักแรม และการผลิตเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 33.3 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน โดยหลักจากสินเชื่อรถยนต์ที่เร่งตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 มาอยู่ที่ร้อยละ 12.4 สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่เติบโตต่อเนื่องหลังสิ้นสุดระยะเวลาการถือครองรถยนต์คันแรก 5 ปี ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.2, 6.5 และ 8.0 ตามล าดับ สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น

นางสาวดารณี กล่าวอีกว่า สำหรับคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ต่อสินเชื่อรวม อยู่ที่ร้อยละ 2.93 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 2.92 โดยมียอดคงค้าง NPL ลดลงจากไตรมาสก่อน 1.65 พันล้านบาท มาอยู่ที่ 441 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ และตัดหนี้สูญเป็นสำคัญ สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.36 จากร้อยละ 2.32 ในไตรมาสก่อน โดยมียอดคงค้างทั้งสิ้น 356 พันล้านบาท

ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์กันเงินสำรอง เพื่อสร้างความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรอง 637 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 14.6 พันล้านบาท และสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 182.1

นางสาวดารณีกล่าวด้วยว่า ในไตรมาส 2 ปี 2561 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลง และรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อ แม้รายได้ค่าธรรมเนียมจะได้รับผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.21 จากร้อยละ 1.07 ในไตรมาสก่อน

“กำไรของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นทั้งกำไรจากการดำเนินงาน และกำไรสุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย โดยมาจากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อ และ ค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลงมาก ซึ่งสะท้อนผ่านอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.66 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.71” นางสาวดารณีกล่าว

นอกจากนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,477 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.5 พันล้านบาท จากไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการจัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุน ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการขยายสินเชื่อ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 : CET1 ratio) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 17.9 และ 15.3 ตามลำดับ