CIMBT คาดวิกฤตตุรกีกระทบไทยค่อนข้างน้อย-ชี้ค่าเงินบาทผันผวนไตรมาส 3-กลับมาแข็งค่าปลายปีนี้

CIMBT ชี้วิกฤตตุรกีกระทบไทยค่อนข้างน้อย เหตุไทยเกินดุลการค้า มั่นใจไม่ลามเป็นวิกฤตตลาดเกิดใหม่แน่ ชี้ระยะสั้นนักลงทุนตกใจฉุดความเชื่อมั่น ทำให้เทขายสินทรัพย์ต่างๆ ลากเงินทั่วโลกอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์ ส่วนเงินบาทผันผวนช่วงไตรมาส 3 ก่อนจะพลิกกลับมาแข็งค่าไตรมาส 4 คงมุมมองค่าเงินบาทสิ้นปีนี้ที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วิกฤตตุรกี จะไม่ลามเป็นวิกฤตตลาดเกิดใหม่ แต่ในระยะสั้น นักลงทุนช่วงที่นักลงทุนตกใจกับปัญหาตางๆ ทำให้มักขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยด้วย และนำเงินไหลกลับไปยังสหรัฐ ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ย่อลง ค่าเงินบาทและสกุลอื่นๆอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัญหาตุรกีไม่ใช่เรื่องใหม่ ถือเป็นปัญหาที่สะสมมานานแล้วและปะทุขึ้นเพราะความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐและสงครามการค้า

โดยค่าเงินลีราของตุรกีอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐอย่างรุนแรง เป็นผลจากความกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐและสงครามการค้า ทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ในประเทศเกิดตลาดใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าวค่อนข้างน้อย เนื่องจากไทยเกินดุลการค้ากับตุรกี และสัดส่วนการส่งออกไปตุรกีเพียง 0.5%ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผัก ผลไม้ยางพารา พลาสติก ยานยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งที่ผ่านมาไทยและตุรกีกำลังเดินหน้าเจรจา FTA ด้วยดี โดยไทยหวังเชื่อมโยงตลาดตุรกีกับยุโรป

สำหรับด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายในประเทศไทย อาจได้รับแรงเทขายจากความกังวลของนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าเทียบค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อทุกอย่างมีความชัดเจนขึ้น ตลาดการเงินโลกกลับมามีเสถียรภาพ นักลงทุนต่างชาติจะแยกแยะระหว่างตลาดเกิดใหม่ที่มีปัญหากับตลาดที่มีเสถียรภาพ ขณะที่ประเทศไทย ซึ่งมีตัวเลขการเกิดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงราว 10%ของจีดีพี และเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยที่สูง น่าจะเป็นส่วนดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้กลับมาได้จึงคาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าในระยะสั้น โดยในช่วงไตรมาส 3 นี้จะเผชิญกับความผันผวน และจะกลับมาแข็งค่าช่วงไตรมาส 4 โดยคงมุมมองค่าเงินบาทที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นปีนี้

“ส่วนค่าเงินลีราของตุรกีอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐราว 42.4% นับจากต้นปี ส่วนหนึ่งเพราะความกังวลจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐและสงครามการค้า และจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ขู่จะขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมจากตุรกีนั้น ส่งผลให้กระทบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของตุรกี และทำให้นักลงทุนนำเงินออกอย่างต่อเนื่อง “นายอมรเทพกล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารกลางตุรกีพยายามขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินไหลออกและประคองเงินเฟ้อให้มีเสถียรภาพ แต่ก็ยังไม่เพียงพอจะสร้างความเชื่อมั่นได้ โดยในระยะสั้นช่วงที่นักลงทุนตกใจต่อปัญหาต่างๆ จึงเทขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย และนำเงินไหลกลับไปยังสหรัฐ ทำให้ค่าเงินบาทและสกุลอื่นๆ อ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

“ผมมองโอกาสการลามของปัญหาได้เป็นสองทาง ได้แก่ ทางที่หนึ่ง คือลามไปยังภาคธนาคารพาณิชย์ของยุโรปที่ปล่อยกู้ให้ตุรกี ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจในยุโรปชะลอได้ แต่ผมติดว่าตัวเลขหนี้ที่ปล่อยกู้ให้ตุรกีไม่น่าจะมาก อีกทั้งปัญหาในตุรกียังไม่ใช่ปัญหาเชิงโครงสร้างซับซ้อนที่ยังแก้ไขได้ และทางที่สอง คือลามไปยังตลาดเกิดใหม่ ซึ่งประเทศที่มีความเสี่ยงมากมักจะเป็นประเทศที่มีปัญหาขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับตุรกี เช่น ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง แต่ถึงจะกระทบ ก็ไม่น่าส่งผลให้เกิดวิกฤติแรง เพราะแต่ละประเทศยังมีความสามารถในการใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อประคองเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพได้” นายอมรเทพกล่าว

นายอมรเทพ ยังได้คาดการณ์เพิ่มเติมถึงทางออกของตุรกีไว้สองทางเพื่อให้สามารถพ้นวิกฤตดังกล่าวไปได้ ว่า ทางเลือกแรก คือ IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) เมื่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเสียสมดุล ก็ต้องแก้จุดที่มีปัญหา เช่น รัดเข็มขัดงบประมาณรายจ่าย ขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพค่าเงิน หรือทางเลือกที่สอง คือ Capital control (การควบคุมเงินทุน) เพื่อสกัดไม่ให้ค่าเงินอ่อนค่าไปกว่านี้ และรักษาเสถียรภาพราคาและตลาดเงิน อย่างไรก็ตามตุรกีน่าจะยุติปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐได้ เพราะเป็นพันธมิตรนาโต้ที่สำคัญของสหรัฐและยุโรป