สภาธ.รัฐร่วมวงดิจิทัลไอดี แบงก์จ่อใช้เปิดบัญชีกู้ปี’62

สภาแบงก์รัฐแจม “ดิจิทัลไอดี” เดินหน้าซื้อหุ้น NDID ต่อจาก “เครดิตบูโร” 10% ประธานสภา SFIs ตั้งเป้าครองสัดส่วนถือหุ้นเท่ากับสมาคมธนาคารไทยในการเพิ่มทุนรอบปลายปีนี้ “สุรพล” คาดแบงก์เริ่มใช้ดิจิทัลไอดีเปิดบัญชีสินเชื่อลูกค้าใหม่ปี’62

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เครดิตบูโรกำลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นบริษัท เนชั่นแนล ดิจิทัล ไอดี (NDID) ลงจากเดิมถืออยู่ 20% เหลือ 10% โดยขายให้กับสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (สภา SFIs) ที่จะเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 10% วงเงิน 10 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อกระจายการถือครองหุ้นให้เหมาะสม มีความเป็นบริษัทระดับชาติมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงที่จัดตั้งบริษัท นอกจากเครดิตบูโรจะถือหุ้น 20% แล้ว ยังมีสมาคมธนาคารไทยที่ถือหุ้น 42.5% และอีก 37.5% แบ่งการถือครองหุ้นเป็นสมาคมหลักทรัพย์ 10% ธุรกิจประกันชีวิต 10% ธุรกิจประกันภัย 10% และกลุ่มอีเพย์เมนต์ประมาณ 7.5%

“เครดิตบูโรเราถือ 20% ในตอนแรก แล้วจะผ่องออก 10% ให้ SFIs เอาไปแบ่งกัน เพื่อให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นเป็น national company มากขึ้น แล้วในวันข้างหน้า เมื่อมีการเพิ่มทุนรอบที่ 2 ก็จะมีการเปลี่ยนสัดส่วน เช่น มีสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (สมาคม บลจ.) จะเข้ามาถือ เป็นต้น

นี่คือตัวบริษัท นายสุรพลกล่าวโดยหลังจากนี้ เมื่อมีการชำระเงินค่าหุ้นกันแล้ว ทางสภา SFIs จะส่งตัวแทนมานั่งเป็นกรรมการบริษัทต่อไป ส่วนการเพิ่มทุนนั้นคงต้องดูว่า เงินก้อนแรกที่ระดมมา 100 ล้านบาท เพียงพอหรือไม่ ซึ่งเงินดังกล่าวใช้ในการสร้างห้องทดลอง และซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ

ทั้งนี้ ดิจิทัลไอดีเป็นกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (KYC) ที่ในอนาคตจะไม่ต้องใช้วิธีแบบซึ่งหน้า (face to face) แต่จะใช้วิธีการตามมาตรฐานสากลที่เชื่อถือได้ในการยืนยันตัวตนได้ผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า สมาร์ทดีไวซ์

“นี่เป็นสิ่งที่ต้องเกิด เพราะถ้าทำอีเพย์เมนต์แล้ว สเต็ปต่อไปก็ต้องทำดิจิทัลไอดี จากนั้นก็ต้องทำเรื่อง open data ถึงจะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลเกิดขึ้นได้” นายสุรพลกล่าว

นายสุรพลกล่าวอีกว่า สำหรับในด้านการให้บริการ ตามแผนที่วางกันไว้ การเปิดบัญชีเงินฝากจะเริ่มก่อน โดยเริ่มจากบัญชีเงินฝากบุคคลธรรมดา ประมาณเดือน ก.ย.หรือ ต.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเป็นการเปิดบัญชีสินเชื่อ ประมาณเดือน ธ.ค. หรือกรณีลูกค้าใหม่ที่จะเปิดบัญชีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ น่าจะเห็นแบงก์เปิดให้บริการกันในปี 2562

“ลูกค้าสินเชื่อใหม่ของแบงก์คงเริ่มปีหน้า แต่ถ้ากรณีเป็นลูกค้าเดิมของแบงก์อยู่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นลูกค้าเงินฝาก เป็นลูกค้ากองทุน แต่อยากจะได้สินเชื่อ อันนี้ถือเป็นลูกค้าเก่าของธนาคาร ถือว่าเคยทำ KYC แบบ face to face อยู่แล้ว วันนี้แบงก์ก็เลยมีการทดลองลูกค้ากลุ่มนี้ให้ลองมาใช้บริการสินเชื่อดิจิทัลโลนผ่านสมาร์ทดีไวซ์กันแล้ว” นายสุรพลกล่าว

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะประธานสภา SFIs กล่าวว่า การเข้าไปซื้อหุ้นต่อจากเครดิตบูโร ยังต้องรอกระบวนการนำสภา SFIs จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการ โดยหลังจากนั้น SFIs จะหารือกันว่า แต่ละแบงก์จะใส่เงินเป็นจำนวนเท่าใดเพื่อใช้เพิ่มทุน ทั้งนี้จะเป็นการใช้เงินงบประมาณของแต่ละแบงก์บริจาคให้สภา SFIs ไม่ได้ใช้เงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เนื่องจากการใช้เงินกองทุนต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ

“นโยบายของกระทรวงการคลัง คือ ให้สภา SFIs เข้าไปมีบทบาทใน NDID และต้องเสียงดัง ไม่ใช่แค่เสียงกระซิบ โดยเราได้ทำหนังสือแจ้งไปแล้วว่า ในการเพิ่มทุนที่น่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายปีนี้ ทางสภา SFIs ต้องการจะถือหุ้นสัดส่วนเท่ากับสมาคมธนาคารไทย ซึ่งอาจจะอิงจากข้อมูลที่ส่งที่เท่า ๆ กัน หรืออิงจากขนาดสินทรัพย์ก็ได้ เพราะสมาชิกสภา SFIs สินทรัพย์รวมกันก็เกือบ 10 ล้านล้านบาทแล้ว” นายฉัตรชัยกล่าว