สศค.จัดงานสัมมนาคุ้มครองเงินฝากครั้งที่ 6/61 หลังมีผู้เข้าร่วม 200 คน

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา เรื่อง การคุ้มครองเงินฝากและการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินให้กับประชาชน ภาคธุรกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยสำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงินได้จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม 2561 เวลา 08.15 – 15.30 น. ณ ห้องเรืองราษฎร์รังสรรค์ โรงแรมทินิดี อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นการจัดสัมมนาวิชาการครั้งที่ 6 ในหัวข้อดังกล่าว
และเป็นครั้งสุดท้ายของปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ซึ่งก็ยังคงได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนาและประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่งเช่นเดียวกับเมื่อ 5 ครั้งก่อนที่ผ่านมา ที่ได้จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดนราธิวาส จังหวัดนครนายก จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดเลย สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนาตามจำนวนเป้าหมาย 200 คน ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้บริหารหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน บริษัทประกันภัย สหกรณ์ ผู้ประกอบการและกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดระนอง

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของ สศค. ที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยทั้งในส่วนของนโยบายด้านการคลัง นโยบายด้านภาษี นโยบายทางด้านการเงิน นโยบายด้านการออมและการลงทุน และนโยบายด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พร้อมทั้งได้กล่าวถึงตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ที่ในปี 2560 ได้ขยายตัวในอัตรา
ร้อยละ 3.9 เป็นไปตามประมาณการที่คาดการณ์ไว้ของ สศค. ในขณะที่ตัวเลขการขยายตัวของ GDP ปี 2561 สศค. คาดการณ์ว่า จะมีอัตราการเติบโตได้สูงถึงร้อยละ 4.5

การสัมมนาภาคเช้า หัวข้อ “ครบถ้วนทุกมิติความรู้และความคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน” โดยวิทยากรประกอบด้วย นางปิยาภรณ์ โพธิ์กลิ่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายกลยุทธ์ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก นายวงศ์วริศ ดุลยนิติโกศล รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และนายสุรศักดิ์ สุพรรณพงศ์ ผู้ชำนาญการ (ด้านกำกับธุรกิจ Non-Bank และรับเรื่องร้องเรียน) ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีนายอมรศักดิ์ มาลา เศรษฐกรชำนาญการ ส่วนนโยบายคุ้มครองเงินฝาก สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สศค. ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ สาระสำคัญของการสัมมนาในภาคเช้าจะครอบคลุมการขับเคลื่อนนโยบายการคุ้มครองเงินฝากเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินในภาพรวม การดำเนินงานในภาพรวมของระบบข้อมูลเครดิต แนวทางในการตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลในกรณีที่ข้อมูลเครดิตไม่ถูกต้อง การคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน สิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้บริการทางการเงิน ภัยทางการเงิน รวมถึงแนวทางการร้องเรียนของผู้ใช้บริการทางการเงิน

การสัมมนาภาคบ่าย ยังคงเป็นการสัมมนาหัวข้อ “ครบถ้วนทุกมิติความรู้และการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน (ต่อเนื่องจากภาคเช้า)” โดยภาคบ่ายได้แบ่งการสัมมนาออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก เป็นการบรรยายให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องระบบการประกันภัย โดยวิทยากร นายรติ พิมพ์สมาน ผู้เชี่ยวชาญสายกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งสาระสำคัญมีการกล่าวถึงวิวัฒนาการของระบบประกันภัยไทยที่ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการส่งเสริมการทำประกันภัย 200 บาท (Micro Insurance) ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยราคาย่อมเยาเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในทุกระดับสามารถเข้าถึงระบบการประกันภัยได้อย่างทั่วถึง ส่วนช่วงที่สอง
เป็นการบรรยายเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องตลาดทุน โดยวิทยากร นางสาวปิยาภรณ์ ครองจันทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งสาระสำคัญเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการออมและการลงทุนของประชาชนไทยเพื่อวัตถุประสงค์ในการเก็บออมเงินไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณและการให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยทั้ง 2 ช่วงดำเนินรายการโดย นางสาวเมวลี เทียมเทศ เศรษฐกรปฏิบัติการ ส่วนนโยบายการประกันภัย สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน


โดยสรุป การสัมมนาทั้ง 2 ช่วง เป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน อันจะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและระบบเศรษฐกิจในภาพรวม นอกจากนี้ เมื่อวันพุธที่ 15 สิงหาคม 2561 เวลา 12.30 – 16.00 น. สศค. ยังได้จัดกิจกรรมโครงการการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการคุ้มครองเงินฝากและการบริหารจัดการทางการเงินแก่เยาวชนให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนพิชัยรัตนาคาร อำเภอเมือง จังหวัดระนอง จำนวน 121 คน ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจและได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากนักเรียน ผู้บริหาร และคณาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมาก