ค่าเงินผันผวน ตลาดจับตาวิกฤตการเงินตุรกี

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 14-17 สิงหาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันอังคาร (14/8) ที่ระดับ 33.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (10/8) ที่ระดับ 33.26/27 บาท/ดอลลาร์ นักลงทุนทยอยกันเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐ อันเนื่องมาจากกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ค่าเงินตุรกี โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา ตัวแทนตุรกีได้เข้าไปเจรจากับสหรัฐ เพื่อผ่อนปรนภาษีนำเข้าแต่ไม่เป็นผล ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของตุรกี และผลกระทบที่จะลุกลามไปยังประเทศต่าง ๆ เนื่องจากเศรษฐกิจของตุรกีค่อนข้างอ่อนแอจากภาวะเงินเฟ้อสูงกว่า 16% เมื่อเทียบเป็นรายปี และหนี้สินต่างประเทศสูงกว่า 50% ต่อจีดีพี ทั้งนี้สกุลเงินลีราร่วงลงหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งการให้เพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอะลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีกสองเท่า โดยอัตราภาษีต่อเหล็กนำเข้าจะอยู่ที่ 50% และอะลูมิเนียมอยู่ที่ 20% ทั้งนี้การที่ค่าเงินตุรกีอ่อนค่าลงมามากกว่า 70% นับจากต้นปี เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตุรกี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดของตุรีกีติดลบต่อเนื่องมานานกว่า 15 ปี รวมถึงสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีอยู่ในระดับที่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่ และระดับเงินสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำกว่ามูลค่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อความสามารถในการชำระภาระหนี้ต่างประเทศในอนาคตของตุรกี สำหรับตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงคืนวันพุธ (15/08) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ได้มีการเปิดเผย ยอดค้าปลีกประจำเดือนกรกฎาคม ออกมาเพิ่มขึ้น 0.5% เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่จะเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% สำหรับยอดค้าปลีกพื้นฐาน ไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้างและอาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% เช่นกัน พร้อมทั้งกระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้เปิดเผยตัวเลขประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานนอกภาคการเกษตรประจำไตรมาสที่ 2 นั้นเพิ่มสูงขึ้น 2.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 และสูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเพียง 2.3% วันพฤหัสบดี (16/08) ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานออกมาอยู่ที่ 212,000 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 215,000 ราย และต่ำกว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ออกมาอยู่ที่ 214,000 ราย ในขณะที่ความคืบหน้าการคว่ำบาตรตุรกี นายสตีเฟ่น มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ เปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐจะยกระดับการคว่ำบาตรตุรกี หากทางการตุรกีปฏิเสธที่จะปล่อยตัวแอนดรูว์ บรุนสัน บาทหลวงชาวอเมริกัน กลับสหรัฐ โดยบาทหลวง แอนดรูว์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำในการก่อรัฐประหารในตุรกี  เมื่อสองปีก่อน นอกจากนี้นายสตีเฟน มนูชิน กล่าวว่า ได้เตรียมพร้อมแผนการอื่น ๆ ไว้รองรับ หากตุรกียังไม่ยอมปล่อยตัวบาทหลวงแอนดรูว์ บรุนสัน โดยเร็ว นอกจากนี้นักลงทุนยังให้ความสนใจไปยังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยนายหวัง โชเหวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน และเป็นรองผู้แทนเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มีกำหนดการเดินทางไปเยือนสหรัฐในระหว่างวันที่ 22-23 ส.ค. เพื่อจะเข้าพบกับนายเดวิด มัลพาส ปลัดกระทรวงการคลังของสหรัฐ โดยทางการจีนระบุย้ำว่า จีนจะต่อต้านมาตรการการค้าที่บังคับใช้แต่ฝ่ายเดียว แต่จีนยินดีที่จะเจรจาและตกลงบนพื้นฐานของความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน

สำหรับประเทศไทย นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในประเทศตุรกีี ในวันอังคาร (14/8) ว่าความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน และการเงินของไทยกับประเทศตุรกียังไม่สูงมาก ผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจึงอยู่ในวงจำกัด โดย ธปท.จะติดตามผลกระทบ และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.14-33.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันอังคาร (14/8) ที่ระดับ 1.1405/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/8) ที่ระดับ 1.1463/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลว่า การดิ่งลงของค่าเงินลีราจะส่งผลกระทบต่อธนาคารยุโรปที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในตุรกี โดย ECB วิตกว่าการทรุดตัวของค่าเงินลีราจะทำให้ภาคธุรกิจของตุรกีผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะธนาคารบีบีวีเอของสเปน ธนาคารยูนิเครดิตของอิตาลี และธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ ของฝรั่งเศส ที่มีความเชื่อมโยงทางการเงินกับตุรกีในระดับสูง ขณะที่ในวันอังคาร (14/8) สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผย ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสสองของปีนี้ ขยายตัว 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยขยายตัวมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดไว้ว่าจะขยายตัว 0.4% ขณะที่มีการประกาศ GDP ของกลุ่มยูโรโซนประจำไตรมาส 2 ออกมาขยายตัวอยู่ที่ 0.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 0.3% ซึ่งเป็นการขยายตัวระดับเดียวกับเมื่อไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1301-1.1429 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1413/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนสัปดาห์นี้ ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันอังคาร (14/8) ที่ระดับ 110.79/81
เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/8) ที่ 110.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าต่อเนื่องจากการที่นักลงทุนเข้าถือครองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย จากความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตค่าเงินตุรกี ทั้งนี้ในวันพฤหัสบดี (16/8) กระทรวงการคลังญี่ปุ่น ได้มีการเปิดเผยตัวเลขดุลการค้าประจำเดือนกรกฎาคม โดยมียอดขาดดุลการค้าในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 2.312 แสนล้านเยน (2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.43-111.43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.71/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ