หลบพิษ “ค่าเงินตุรกี” นักลงทุนซุ่มซื้อพันธบัตรไทย

แฟ้มภาพ

วิกฤตค่าเงินตุรกี นับเป็นอีกลูกระเบิดที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด และกลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะมาลากสงครามการค้าที่สหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดี “ทรัมป์” ซึ่งกำลังเล่นเกมใหญ่ท้าทายประเทศต่าง ๆ จนทั่วโลกต่างเฝ้าจับตากันอย่างใกล้ชิด ทั้งการหาทางออกของตุรกีที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจการค้าอย่างไร ค่าเงินลีราที่ร่วงรูด ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ที่กระทบหนักต่อภาคธนาคาร และยังลุกลามไปประเทศในกลุ่มยุโรป

ท่ามกลางฝุ่นตลบที่เกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนทั่วโลก ต่างปรับทัพจัดพอร์ตลงทุนเคลื่อนย้ายเงินลงทุนออกมาหาสกุลดอลลาร์กันเป็นแถว โดยเฉพาะเงินลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market) ที่มีจีนเป็นผู้นำเศรษฐกิจใหญ่ในฝั่งเอเชีย และไทยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เช่นกัน ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่เกิดวิกฤตค่าเงินตุรกีที่ผ่านมา สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้รายงานว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่า ในระดับน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยค่าเงินบาทอยู่อันดับ 2 รองจากฮ่องกง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. เป็นวันที่ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากสุด โดยเปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 33.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ อยู่ระหว่าง 33.35-33.24 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีแรงเทขายจากต่างชาติ (14-16 ส.ค. 61) อยู่ที่ 7,204 ล้านบาท แต่ตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) พบว่ามีแรงซื้อเข้ามา โดยต้นสัปดาห์ (14 ส.ค.) อยู่ที่ 2.7 พันล้านบาท และวันที่ 15 ส.ค. อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท และวันที่ 15 ส.ค. ขายสุทธิอยู่ที่ 628 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อบอนด์สูง ส่วนหนึ่งเพราะมีการเปิดประมูลใหม่ 2 รุ่นวงเงินรวมราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นจังหวะพอดีกับเกิดวิกฤตตุรกีขึ้น

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัย ลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวว่า ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ค่าเงินบาทของไทยจะอ่อนค่าช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ซึ่งไทยโชคดีที่มีกันชนคือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง และหากสถานการณ์คลี่คลายลง และหากเฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจจะเริ่มเห็นค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้

“ในส่วนของเงินต่างชาติลงทุนในบอนด์ไทย ถ้าดูเส้นผลตอบแทนของบอนด์ยังไม่ได้เด้งไปไกลมาก และค่าเงินบาทก็ไม่ได้ขยับไปไกล ก็น่าจะไม่ได้มีแรงเทขายเยอะ และถ้าเขายังเข้ามาลงทุนก็อาจเป็นเพราะไทยมีเสถียรภาพที่ดี ทำให้แน่ใจว่าจะไม่ได้เกิดวิกฤตง่าย” ดร.พิพัฒน์กล่าว

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า เนื่องจากไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 10% ต่อจีดีพี และทุนสำรองระหว่างประเทศอีกจำนวนมาก จึงยังส่งผลบวกต่อประเทศไทยที่ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งเชื่อว่าหลังฝุ่นตลบของวิกฤตตุรกี น่าจะมีเงินต่างชาติที่หนีจากยุโรปเข้ามาลงทุนในไทย

“ช่วงนี้จะเห็นนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อบอนด์ไทยต่อเนื่อง ซึ่งก็มีบ้างที่ซื้อเพื่อเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนด้วย”

“ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร” ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การที่เงินบาทไม่ได้อ่อนค่ามาก เนื่องจากประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับที่ 11-12 ของโลกด้วย ขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตุรกี เชื่อว่าจะไม่ลุกลามมาถึงไทย

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้โลกมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ปัญหาในเวเนซุเอลา และล่าสุด สถานการณ์ในตุรกี ทำให้เงินลงทุนส่วนใหญ่จะกลับไปในประเทศที่พัฒนาแล้ว และหากจะไปลงทุนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่นักลงทุนก็มักจะเลือกไปจีนมากกว่า

“ส่วนค่าเงินบาทของไทย ก็จะถูกดึงไปทั้ง 2 ฝั่ง ดังนั้น ก็ต้องถือว่าเรามีภูมิคุ้มกัน เพราะถ้าเป็นประเทศที่ไม่ได้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดแล้วเกิดเงินไหลออก โดยเฉพาะถ้ามีต่างชาติมาลงทุนในหุ้นหรือบอนด์มาก ๆ ก็จะยิ่งมีผลกระทบกับเงินไหลออกมาก” ดร.ศรพลกล่าว

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ระดับกว่า 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยจะต้องติดตามปัจจัยการออกมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ รวมถึงการลุกลามของปัญหาของประเทศที่เศรษฐกิจมีความเปราะบาง อาทิ เวเนซุเอลา ตุรกี เป็นต้น แต่โดยรวมปีนี้ทั้งปี ค่าเงินบาทจะแข็งค่ามากกว่าปีที่แล้ว โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 32.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

“ประเด็นที่ต้องติดตามปลายปีนี้ คือ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อย่างไรนั้น ตนมองว่าผลตอบแทนพันธบัตรไทยในปัจจุบันถือว่ายังต่ำกว่าพันธบัตรสหรัฐทั้งสั้นและยาว

โดยบอนด์สั้นคงไม่ปรับขึ้นมาก เนื่องจากจะเป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนบอนด์ยาวอัตราดอกเบี้ยอาจจะมีการปรับขึ้นได้บ้าง ในกรณีที่มีเงินไหลกลับ” ดร.ศรพลกล่าว

ไฟร้อน “สงครามการค้า” ที่สหรัฐจุดชนวนขึ้นมา จะยืดเยื้อและกลับมาพ่นพิษใส่เศรษฐกิจสหรัฐเองอย่างไร ยังเป็นโจทย์ที่ทั่วโลกเฝ้ามองกันอยู่