ก.ล.ต.เมินยืดภาษีแปลง REIT บลจ.เร่งมือดันกองอสังหาฯต่อแถว

กองทุนรวมอสังหาฯเรียงแถวแปลงเป็นทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงครึ่งปีหลังคึกคัก บลจ.ไทยพาณิชย์ ดันกอง CPN ของกลุ่มเซ็นทรัล มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท แปลงเป็นรีทส์ ภายในไตรมาส 4 นี้ วอนรัฐต่ออายุมาตรการสิทธิประโยชน์ภาษีที่จะหมดสิ้นปีนี้ ด้านกรุงไทย-กสิกรไทย ต่อคิวลูกค้าแปลงกองตามมาติด ๆ ฟาก ก.ล.ต.ยืนยันไม่ขยายเวลามาตรการเพิ่ม

นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันลูกค้าที่สนใจแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์) เป็นทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT หรือ รีทส์) ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการแปลงสภาพกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท (CPNRF) มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท ของ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เป็นทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท (CPNREIT) โดยคาดว่ากระบวนการต่าง ๆ จะแล้วเสร็จทันภายในช่วงไตรมาส 4/2560

ทั้งนี้ ขั้นตอนอยู่ระหว่างการรอผลสรุปการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนของ CPNRF และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้ทันรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอันเนื่องมาจากการแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาฯเป็นรีทส์ที่จะสิ้นสุดภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2560

สำหรับ บลจ.ไทยพาณิชย์ มีกองทุนรวมอสังหาฯอยู่ประมาณ 9-10 กองทุน มูลค่ารวมราว 60,000 กว่าล้านบาท ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีลูกค้ารายอื่น ๆ สนใจที่จะแปลงกองเพิ่มเติม เนื่องจากบางกองทุนยังห่วงเรื่องสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีของกองทุนอสังหาฯ อย่างไรก็ตาม มองว่าการแปลงสภาพกองอสังหาฯเป็นรีทส์ จะมีข้อดีในเรื่องเปิดให้กองทุนเดิมสามารถขยายการลงทุนเพิ่มเติมได้ รวมถึงช่วยให้สภาพคล่องของกองทุนมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากภาครัฐขยายเวลาอายุมาตรการแปลงสภาพกองทุนอสังหาฯต่อเนื่อง ก็น่าจะมีผู้สนใจเข้ามาแปลงกองทุนเพิ่มมากขึ้นอีก

“เราหวังว่าภาครัฐจะช่วยขยายระยะเวลามาตรการส่งเสริมการแปลงกองอสังหาฯเป็นรีทส์ต่อไปอีก เพราะรัฐไม่ได้สูญเสียอะไรเลย นอกเสียจากค่าธรรมเนียมการโอนอย่างเดียว ซี่งการแปลงสภาพกองทุนอสังหาฯเป็นรีทส์จะส่งผลดีต่อรายได้ของภาครัฐในระยะยาว เพราะรัฐจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการช่วยให้กองทุนมีการขยายการลงทุนเพิ่มเติมอีกด้วย” นายสมิทธ์กล่าว

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีลูกค้าที่เป็นกองทุนรวมอสังหาฯ 1 ราย มูลค่ากองทุนประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งสนใจที่จะแปลงสภาพเป็นรีทส์ ซึ่งบริษัทกำลังดำเนินการยื่นแบบแสดงข้อมูล (ไฟลิ่ง) ให้กับ ก.ล.ต. โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จทันภายในช่วงปลายไตรมาส 4 นี้

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บลจ.กรุงไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมอสังหาฯที่บริหารจัดการอยู่ราว 120,000 ล้านบาท ซึ่งจะปรับตัวลดลงราว 80,000 ล้านบาท จากช่วงต้นปีที่มีมูลค่า 200,000 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทย่อยของกลุ่มทีซีซี กรุ๊ป ซึ่งอยู่ในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ขอซื้อสินทรัพย์คืนทั้งหมด 3 กองทุน เพื่อนำไปบริหารเองนายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน บลจ.กสิกรไทย มีกองทุนรวมอสังหาฯที่บริหารจัดการอยู่จำนวน 5 กอง มูลค่าทรัพย์สินรวม 19,949 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอพรีเมี่ยม แฟคทอรี่แอนด์แวร์เฮ้าส์ ฟันด์ (WHAPF) มูลค่า 9,662 ล้านบาท เป็นทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART) ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ทันภายในช่วงปลายปีนี้เช่นกัน

นายประกิด บุณยัษฐิติ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจขอแปลงสภาพกองทุนอสังหาฯเป็นรีทส์แล้วหลายราย อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.คงไม่มีการขยายระยะเวลามาตรการส่งเสริมการแปลงกองอสังหาฯเป็นรีทส์ ที่จะหมดสิทธิภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2560 นี้เพิ่มเติม เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาได้มีการขยายระยะเวลามาแล้ว 1 ปี จากเดิมที่ครบกำหนดในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 2559 ซึ่งถือว่าที่ผ่านมาได้ให้เวลากองทุนอสังหาฯได้มีเวลาแปลงสภาพกองทุนมากพอสมควรแล้ว