แบงก์รัฐเพิ่มกลไกปล่อยกู้ ประกันความเสี่ยงอุ้ม SME

2 แบงก์รัฐชูกฎหมายเพิ่มกลไกดูแลเอสเอ็มอี “ธพว.” ดัน พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐเป็นกองทุนถาวร หวังทลายขีดจำกัดปล่อยกู้ของแบงก์ ฟาก “ธสน.” แจง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขเอื้อแบงก์หนุนประกันความเสี่ยง “ลงทุน-ส่งออก” เอสเอ็มอีมากขึ้น เดินหน้าลุยตั้งสำนักงานตัวแทนที่ สปป.ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเสนอร่างกฎหมายเพื่อยกระดับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐให้เป็นกองทุนแบบถาวร จากเดิมที่จัดตั้งขึ้นในลักษณะเป็นกองทุนหมุนเวียนภายใต้กฎหมายงบประมาณประจำปี โดยตั้งเป้าผลักดันกฎหมายให้ผ่านภายในปีนี้

ทั้งนี้ สำหรับเหตุผลของการที่ต้องมีกองทุนดังกล่าว เนื่องจากการปล่อยกู้ ถ้าทำผ่านช่องทางธนาคารจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์บาเซิล (Basel) และมาตรฐานการให้สินเชื่อของธนาคารต่าง ๆ ที่ต้องเข้าตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ไม่สามารถปล่อยให้เอสเอ็มอีบางกลุ่มที่รัฐต้องการเข้าไปช่วยเหลือได้

“ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลย คนที่มีปัญหาทางการเงิน จ่ายค่างวดไม่สม่ำเสมอ ระบบแบงก์ก็ปล่อยกู้ให้ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านี้เป็นคนทำมาค้าขาย เพราะฉะนั้นรายได้อาจจะไม่สม่ำเสมอ ทำให้แบงก์เติมเงินให้เขาไม่ได้ ฉะนั้นกองทุนนี้ก็ตั้งขึ้นมาเพื่อเติมเงินให้คนเหล่านี้ หรืออีกกลุ่มคือเอสเอ็มอีที่ตายแล้ว หรือต้องพลิกฟื้น ซึ่งเราต้องให้ทุนเขาไปก่อร่างสร้างตัวใหม่ ดังนั้นก็จะมีการยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนขึ้นมาเลย เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยให้ทาง ธพว.เป็นคนบริหารโครงการ เพราะเรามีระบบงาน มีบุคลากรรองรับ” นายมงคลกล่าว

นายมงคลกล่าวอีกว่า ตั้งแต่ต้นปี 2561 ถึงปัจจุบัน การปล่อยสินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐมีการปล่อยกู้ไปแล้วราว 18,000 ล้านบาท จากเงินกองทุนทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท โดยกองทุนจะให้วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท/ราย คิดอัตราดอกเบี้ยแค่ 1% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี และปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี

ขณะที่นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า หลังจากพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561 ที่เป็นการแก้ไขกฎหมายเดิม มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ธนาคารสามารถขยายขอบเขตอำนาจในการกระทำกิจการของแบงก์ที่เกี่ยวกับการรับประกันความเสี่ยงและส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้ส่งออกและผู้ลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“การแก้ไข พ.ร.บ.ธสน. ส่งผลให้สามารถขยายขอบเขตในการรับประกันความเสี่ยงด้านการส่งออกและการรับประกันความเสี่ยงด้านการลงทุนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถใช้บริการประกันการส่งออกของ ธสน.ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์เกิดความมั่นใจและช่วยสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี” นายพิศิษฐ์กล่าว

นายพิศิษฐ์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เอ็กซิมแบงก์มีแผนขยายการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศ 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดยจะมีการเปิดสำนักงานตัวแทนที่ สปป.ลาวอย่างเป็นทางการช่วงเดือน พ.ย. 2561 นี้ หลังก่อนหน้านี้ได้เปิดสำนักงานตัวแทนที่เมียนมาไปแล้ว และเตรียมเปิดสำนักงานตัวแทนในประเทศกัมพูชา ช่วงกลางปี 2562 และพยายามเปิดที่เวียดนามให้ทันภายในปี 2562 อีกด้วย

ส่วนอีกกลุ่ม คือ กลุ่มประเทศเกิดใหม่ (นิวฟรอนเทียร์) อาทิ แอฟริกา เอเชียใต้ เอเชียกลาง และเคนยา ที่แบงก์มุ่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขยายตลาดส่งออก และเข้าไปลงทุนมากขึ้น โดยล่าสุดแบงก์ได้เข้าไปศึกษาข้อมูลการลงทุนในประเทศเคนยา พบว่า มีหลายอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตได้ เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของเอสเอ็มอีไทย