ดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ รอแถลงการณ์จากเฟด

AFP(แฟ้มภาพ)

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 22 สิงหาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/8) ที่ระดับ 32.65/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (21/8) ที่ระดับ 32.71/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่องหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้วิพากษ์วิจารณ์นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในกรณีที่เฟดมีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยทรัมป์กล่าวว่า เขาไม่ยินดีที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะวิพากษ์วิจารณ์เฟดต่อไป หากเฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้แล้วการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังได้รับผลกระทบจากประเด็นทางการเมืองของสหรัฐ โดยนายไมเคิล อดีตทนายของประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ออกมายอมรับสารภาพคดีฉ้อโกงธนาคารและหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจละเมิดกฎหมายการเงินช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ด้วย ซึ่งมีความเสี่ยงว่าอาจจะกระทบกับประธานาธิบดีทรัมป์

ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาการเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในวันนี้ (22/8) รวมถึงการประชุมเศรษฐกิจประจำปีของเฟด ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองแจ๊กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 23-25 สิงหาคมนี้ โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด มีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ในวันที่ 24 สิงหาคม โดยหัวข้อการประชุมในปีนี้คือ “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาด และสิ่งบ่งชี้สำหรับทิศทางนโยบายการเงิน” สำหรับการประชุมครั้งนี้คาดว่าจะมีการหารือกันในหลายประเด็น เช่น ค่าแรงและเงินเฟ้อที่มีผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ย อัตราภาษีศุลกากร มาตรการกระตุ้นทางการคลัง ปฏิกิริยาของตลาดเกิดใหม่ที่มีต่อนโยบายการค้าของสหรัฐ หนี้สินของภาครัฐและเอกชน รวมถึงอิทธิพลของบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่แห่งที่มีต่อตลาดโดยรวม ซึ่งอาจทำให้เกิดการผูกขาดและส่งผลเสียต่อผู้บริโภค แรงงาน และเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบของกิจกรรมออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยการประชุมเศรษฐกิจประจำปีของเฟดครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของนายเจอโรม พาวเวล ในฐานะประธานเฟด นักลงทุนยังคงจับตาว่าวิกฤตค่าเงินที่เกิดขึ้นในตลาดเกิดใหม่ และคำวิพากษ์วิจารณ์จากทรัมป์จะสร้างความวิตกกังวลให้กับคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดหรือไม่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.66-33.78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.74/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (22/8) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1578/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (21/8) ที่ระดับ 1.1520/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นักลงทุนจับตาดูว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ภายใต้การนำของนายมาริโอ ดรากี จะนำประเด็นใดมาหารือในการประชุมครั้งต่อไปในวัันที่ 13 กันยายนนี้ โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรแสตท) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 2.1% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งสูงกว่าที่อีซีบีตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 2% จึงถือเป็นการส่งสัญญาณสนับสนุนให้อีซีบียุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ในช่วงสิ้นปีนี้ และทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปีหน้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1556-1.1587 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1587/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (22/8) เปิดตลาดที่ระดับ 110.18/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (21/8) ที่ระดับ 110.26/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังได้รับผลกระทบจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.17-110.42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.27/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC Minutes) ประจำวันที่ 31/7-1/8 (23/8) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (23/8) ยอดขายบ้านใหม่เดือนกรกฎาคม (23/8) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนกรกฎาคม (24/8) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นเดือนสิงหาคมจากมาร์กิต (23/8) แถลงการณ์ของพาเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (24/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.60/-2.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.25/-4.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

ADVERTISMENT