ธปท.เป่านกหวีดพร้อมขึ้นดอกเบี้ย ค่าบาทพลิกแข็ง-สภาพัฒน์ชี้ ศก.แจ่ม

เสียงนกหวีดดังมาจากสภาพัฒน์ว่า การใช้จ่ายของภาคเอกชนมาแรงเกินคาด โดยเฉพาะการบริโภคที่เร่งตัวขึ้นอย่างโดดเด่น สอดคล้องไปกับการปรับตัวที่ดีขึ้นของฐานรายได้ของประชาชน ผลของบัตรสวัสดิการคนรายได้น้อยของภาครัฐบาล และพิษของมาตรการรถคันแรกที่หมดลงในปีนี้ (หลังจากโครงการรถคันแรกครบ 5 ปีผ่านไปแล้ว บางคนก็มีการเปลี่ยนซื้อรถใหม่) ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 67.5 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส หรือราว 3 ปีที่ผ่านมา บวกกับการส่งออกและภาคท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง เป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทย 2 ไตรมาสแรกเติบโตได้ดีต่อเนื่อง

โดยนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ฉายภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ครึ่งปีแรกนี้ว่า จีดีพี ขยายตัวถึง 4.8% หลังจากที่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เติบโต 4.6% ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่โตอยู่ 4.9% โดยไตรมาส 2 มีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่มีการบริโภคเร่งตัวถึง 4.5% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.7% ซึ่งหลัก ๆ มาจากยอดขายรถยนต์เติบโตถึง 25% ขณะที่การลงทุนเพิ่มขึ้น 3.2% ก็มาจากการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักร การนำเข้าสินค้าทุนมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐมีการอุปโภคขยายตัว 1.4% และการลงทุนโต 4.9% ซึ่งเร่งตัวขึ้นสูงเพราะรัฐวิสาหกิจมีการลงทุนสูงถึง 8.9% แต่รัฐมีการลงทุนโตเพียง 0.9% ส่วนการส่งออกของไทยยังขยายตัวในเกณฑ์สูง 12.3% สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลกด้วย และปริมาณการส่งออกก็เพิ่มขึ้น

ด้านการผลิตไตรมาส 2/61 พบว่าภาคเกษตรและสาขาการขายส่งและขายปลีกขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้น และที่เห็นสัญญาณดีคือราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้น 6.1% นับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส แต่ด้านการผลิตของภาคอุตสาหกรรมมีการเติบโตที่ชะลอตัวเนื่องจากมีฐานก่อนหน้านี้ที่ขยายตัวสูง นอกจากนี้ยังพบว่าสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่ขยายตัว 9.4% ชะลอตัวจากไตรมาสแรกตามการชะลอตัวของจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง นายทศพรกล่าวว่า ยังมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจาก 1.การส่งออกที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลก ซึ่งล่าสุด สศช.ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ปี 2561 นี้ การเติบโตทั้งด้านมูลค่าและปริมารการส่งออกอยู่ที่ 10.0% และ 6.0% ตามลำดับ เช่นเดียวกับการเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของสินค้านำเข้า และภาคการผลิตสำคัญ ๆ ก็ยังขยายตัวเกณฑ์ดี 2.การใช้จ่ายของภาครัฐและการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มเร่งขึ้นในไตรมาส 3/61 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณปีนี้ 3.การลงทุนเอกชนที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นทั้งจากอัตราการใช้กำลังการผลิตและดัชนีความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ และ 4.การปรับตัวที่ดีขึ้นของฐานรายได้ของประชาชนที่มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ

“สำหรับคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวเฉลี่ย 4.5% ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว และสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลก”

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าดูในครึ่งปีหลังนี้ นายทศพรกล่าวว่า ในไทยที่มีปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเวลานี้ เนื่องจากฝนมาค่อนข้างเยอะในปีนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรได้ แต่ยังเชื่อว่าจะไม่ติดลบ เพราะมีฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน แต่อาจจะไม่ขยายตัวสูงนัก และมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐต่อประเทศต่าง ๆ ซึ่งก็จะมีผลกระทบเชิงบวกและลบ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่น่ากังวลมากในขณะนี้

ส่วนมุมมองของนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวถึงผลกระทบจากมาตรการกีดกันการค้าและวิกฤตเศรษฐกิจในตุรกีว่า ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนอยู่ในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และเกิดการเคลื่อนย้ายของเงินทุน ซึ่งจะกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน แต่ในส่วนของประเทศไทยยังมีผลกระทบในวงจำกัด เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการค้ากับตุรกีค่อนข้างน้อย ขณะเดียวกันไทยมีฐานะการเงินด้านต่างประเทศที่เข้มแข็ง ซึ่งหากดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทจะเห็นว่าอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้

“อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจะยังสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ธนาคารกลางหลักของโลกได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ภาวะปกติ (normalization) เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ ที่มีทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้น ในช่วงครึ่งปีหลังของปีཹ และปีหน้า และธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มจะปรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องการเงินของโลก ดังนั้นความผันผวนของกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออกจะอยู่กับเราต่อและจะผันผวนมากขึ้น ขณะที่มาตรการกีดกันทางการค้าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนและทิศทางการขยายตัวเศรษฐกิจของหลายประเทศ ดังนั้นต้องมีการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง” นายวิรไทกล่าว

ส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ออกมาดี ตามที่สภาพัฒน์ประกาศออกมานั้นสอดคล้องกับที่ ธปท.ได้ประเมินไว้ ซึ่งจะเป็นประเด็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะนำมาพิจารณาในการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้อีกครั้ง รวมถึงพิจารณาความจำเป็นในการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน (ดอกเบี้ยนโยบาย) ว่าอาจจะไม่จำเป็นเหมือนเดิมแล้ว ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยโลกที่สูงขึ้นทำให้ไทยคงสวนทางอัตราดอกเบี้ยโลกไม่ได้ นอกจากนี้จะพิจารณาอีกหลายปัจจัย ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเงิน

“ไทยมีดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อเนื่องมานาน ซึ่งส่งผลข้างเคียงกับเสถียรภาพทางการเงินระยะยาวได้ เช่น เงินออมอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรเป็น ซึ่งเป็นพฤติกรรมของคนที่มุ่งหาผลตอบแทนโดยประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเก็งกำไรจนกลายเป็นจุดเปราะบางได้ เราต้องมองระยะยาวมากขึ้น คือมองความสามารถในการดำเนินนโยบายอนาคตด้วย เพราะในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ต้องแน่ใจว่าเรามีกระสุนในมือเพื่อพร้อมรับมือได้ ซึ่งที่ผ่านมาดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำมากเป็นพิเศษ แต่ถ้ามีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าทิศทางนโยบายการเงินจะเปลี่ยนไป คือจากผ่อนคลายไปตรงข้ามเลย เนื่องจากนโยบายผ่อนคลายยังจำเป็นอยู่” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

ขณะที่ค่าเงินบาทไทย ปรับตัวแข็งค่าทันทีหลังผู้ว่า ธปท.ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 61 ค่าเงินบาท ซึ่งระหว่างวัน เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.03 – 33.21 บาท/ดอลลาร์ และปิดตลาดอยู่ที่ 33.05/06 บาท/ดอลลาร์

ท่ามกลางข่าวดีเศรษฐกิจไทยขยายตัวดี ก็ตามมาด้วยการส่งสัญญาณของ ธปท.ว่า เตรียมพิจารณาจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่อยู่ 1.50% นับเป็นอีกโจทย์ในประเทศที่ภาคเอกชนจะต้องรับมือกันแล้ว