ธสน.ชู 2 ผลิตภัณฑ์ หนุนเอสเอ็มอีส่งออก

ธสน.ชู 2 ผลิตภัณฑ์ ทั้งสินเชื่อเอ็กซิมเพื่อธุรกิจขนาดกลางและสินเชื่อรับซื้อตั๋วเพื่อธุรกิจขนาดกลาง หวังเสริมสภาพคล่องและป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไซส์ M สามารถแข่งขันในระดับสากลได้ ตั้งเป้าอนุมัติวงเงินรวม 3,000 ล้านบาท โดยสิ้นสุดให้บริการ ก.ค. 62

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เปิดเผยว่า ได้พัฒนาบริการใหม่เพื่อเต็มเติมความต้องการของผู้ส่งออกขนาดกลางที่มียอดขายตั้งแต่ 50-500 ล้านบาท ทั้งในด้านเงินทุนเพื่อสนับสนุนการขยายกิจการส่งออก-นำเข้าและยกระดับกระบวนการผลิต ด้านเครื่องมือทางการเงินเพื่อบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย 1. สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อธุรกิจขนาดกลาง (EXIM for M Credit) เป็นสินเชื่อหมุนเวียนก่อนและหลังการส่งออก วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยปีแรก ขั้นต่ำอยู่ที่ Prime Rate -2.00% ต่อปี (หรือ 4.25% ต่อปี) ปีที่ 2 ขั้นต่ำ Prime Rate -1.50% ต่อปี (หรือ 4.75% ต่อปี) ปีที่ 3 เป็นต้นไป เป็นไปตามมาตรฐานธนาคาร พร้อมวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) สูงสุด 3 เท่าของวงเงินสินเชื่อ ใช้หลักประกันขั้นต่ำ 35% และบุคคลค้ำประกัน

2.สินเชื่อรับซื้อตั๋วเพื่อธุรกิจขนาดกลาง (EXIM Nego for M Credit) เป็นสินเชื่อหมุนเวียนหลังการส่งออก เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการขนาดกลาง วงเงินสูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยปีแรก ขั้นต่ำอยู่ที่ Prime Rate -2.00% ต่อปี (หรือ 4.25% ต่อปี) ปีที่ 2 ขั้นต่ำ Prime Rate -1.50% ต่อปี (หรือ 4.75% ต่อปี) ปีที่ 3 เป็นต้นไป เป็นไปตามมาตรฐานธนาคาร พร้อมวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) สูงสุด 3 เท่าของวงเงินสินเชื่อ ใช้หนังสือค้ำประกันของ บสย. และบุคคลค้ำประกัน หรือหลักประกันขั้นต่ำ 30% และบุคคลค้ำประกัน ทั้งสองบริการนี้มีระยะเวลาอนุมัติตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 มีเป้าหมายอนุมัติวงเงินรวม 3,000 ล้านบาท

สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 บริการ เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันในระดับสากล รวมทั้งภาคการส่งออก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลาง (กลุ่ม M) ของไทยที่ยังมีสัดส่วนน้อย เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีจำนวนไม่ถึง 1% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ ขณะที่ผู้ส่งออกขนาดกลางคิดเป็น 10% ของผู้ส่งออกทั้งประเทศที่มีอยู่ ราว 28,000 ราย นอกจากนี้ผู้ประกอบการกลุ่ม M สามารถสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจได้ในสัดส่วนสูง ซึ่งจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้ถึง 1.79 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12.5% ของจีดีพีรวม ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1.09 ล้านราย คิดเป็น 7.4% ของการจ้างงานรวม และมีสัดส่วนของมูลค่าส่งออกรวม 7.1 แสนล้านบาท คิดเป็น 9.4%

อย่างไรก็ตามการพัฒนาบริการเพื่อสนับสนุนผู้ส่งออกรายย่อย (กลุ่ม S) แล้ว ธสน. จึงมุ่งเน้นการสร้างกลุ่มผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ตั้งแต่การสร้างกลุ่มผู้เริ่มต้นส่งออกให้มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดด การสร้างกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กให้มีศักยภาพสูง เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และการสร้างกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางที่เข้มแข็งและพร้อมจะขยายกิจการ ไปจนถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่สามารถนำผู้ประกอบการไทยเข้าสู่เวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้อย่างประสบความสำเร็จในระยะยาว ท่ามกลางปัจจัยท้าทายและโอกาสมากมายในโลกธุรกิจยุคใหม่