ขุนคลังเผยแบงก์เตรียมปรับบริการ”พร้อมเพย์”โอนขั้นต่ำ7แสนบาท/รายการ จากเดิมแค่5พันบาท แถมเพิ่มฟีเจอร์จ่าย”ค่าน้ำ-ค่าไฟ”ได้เบ็ดเสร็จ

ขุนคลังเผยแบงก์เตรียมปรับบริการ “พร้อมเพย์” โอนขั้นต่ำ 7 แสนบาท/รายการ จากเดิมแค่ 5 พันบาท แถมเพิ่มฟีเจอร์จ่าย “ค่าน้ำ-ค่าไฟ” ได้เบ็ดเสร็จ เดินหน้าวางระบบคืน VAT อิเล็กทรอนิกส์เอื้อออกมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ในอนาคต พร้อมดันร่างกฎหมายอีเพย์เมนต์

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (27 ส.ค.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ครั้งที่ 4/2561 เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment โดยจากการรายงานรอบนี้ ทุกโครงการที่ทำเดินหน้าไปได้ด้วยดีตามกำหนด

ทั้งนี้ สำหรับในส่วนโครงการพร้อมเพย์ มีผู้ลงทะเบียนในระบบแล้ว 44.3 ล้านราย มีเงินโอนสะสมรวมกัน 2.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นจำนวน 525 ล้านรายการ และหลังจากทุกแบงก์มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ก็ทำให้ปริมาณธุรกรรมยิ่งเพิ่มขึ้น

“วงเงินที่โอนกันเฉลี่ยในปัจจุบัน ยังอยู่ที่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อครั้ง แสดงให้เห็นว่าเป็นการโอนกันของประชาชนปกติ โดยเป้าหมายต่อไป ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการคุยกับสมาคมแบงก์ว่า จะมีการขยายวงเงินให้เพิ่มเป็น 7 แสนบาทต่อครั้ง ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า เพื่อให้ธุรกรรมเกิดขึ้นได้มากขึ้นกับวอลุ่มใหญ่ ๆ แล้วหลังจากนั้นอีก 1-2 เดือนก็จะขึ้นเป็น 2 ล้านบาท” นายอภิศักดิ์กล่าว

ขณะที่ในอีก 2-3 เดือน ก็จะมีฟีเจอร์ใหม่ของพร้อมเพย์ มีการสั่งจ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ ผ่านพร้อมเพย์โดยตรง แทนที่จะไปจ่ายตามแบงก์ หรือ เคาน์เตอร์เซอร์วิส แบบไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวก และช่วยผู้ประกอบการให้สามารถจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ในวอลุ่มมากๆ ได้

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีวอลเล็ต) ที่ทาง ธปท. ได้เปิดให้ดำเนินการได้มาราว 1เดือน เศษ พบว่า วอลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณ 17% มีรายการธุรกรรมสะสม 1.9 ล้านรายการ ซึ่งคาดว่าจะมีเรื่องเกี่ยวเนื่องเกิดขึ้นมาอีกมาก

นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง การบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ที่เริ่มใช้มาได้ 2-3 เดือนแล้ว ปัจจุบันมีผู้ใช้คิวอาร์โค้ดเพื่อบริจาค เป็นเงินกว่า 1 ล้านบาทแล้ว โดยกรมสรรพากรได้หารือว่า ในอนาคตผู้ที่จะลดหย่อนภาษี ต้องดำเนินการผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด แต่จะค่อย ๆทยอยดำเนินการไป

@@ วางระบบเอื้อสานต่อนโยบายคืนVAT “ช้อปช่วยชาติ”

นายอภิศักดิ์ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่กำลังเร่งดำเนินการก็คือ การทำให้เครื่องรับเงิน (EDC) สามารถจำแนกรายการที่มีการรูดซื้อสินค้ากับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้ ซึ่งจะทำให้ทราบรายการตามที่รัฐจะส่งเสริมให้มีการคืน VAT สำหรับผู้มีรายได้น้อยได้ในช่วงปลายปีนี้ หรือเอื้อการทำนโยบายเกี่ยวกับ VAT ในอนาคต เช่น ถ้ามีการทำช้อปช่วยขาติขึ้นมาอีก จะได้ไม่ต้องเก็บใบเสร็จไว้ เป็นต้น

“ในส่วนการคืน VAT ผู้ถือบัตรสวัสดิการนั้น เดิมจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. แต่เนื่องจากระบบทำไม่ทัน ก็เลยจะเริ่มวันที่ 1 พ.ย.แทน” นายอภิศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ดี รมว.คลัง ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการวางระบบเพื่อจะไปสู่การขึ้น VAT ในอนาคตแต่อย่างใด

@@ ถกภาษีอีเพย์เม้นต์ ส่อปรับจำนวนธุรกรรมผ่านแบงก์ 3 ครั้ง/ปีต้องรายงาน

นายอภิศักดิ์ ล่าวว่า ในส่วนการเสนอกฎหมายภาษี e-Payment ที่ปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น โดยในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์นั้น ส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ดำเนินการ ซึ่งกรมสรรพากรมีแนวคิดว่า หากใครใช้ระบบนี้ จะถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ เช่น อาจจะเหลือ 1% หรือ 2% จากเดิมที่ถูกหักสูงกว่านี้

“ส่วนในเรื่องปริมาณธุรกรรมที่แบงก์ต้องรายงาน ก็ยังดีเบตกันอยู่ว่าธุรกรรม 3,000 ครั้ง/ปี ควรหรือไม่ควร แต่หลักการก็คือ การนำข้อมูลไปใช้ คนธรรมดาอย่างเรา ข้อมูลทั้งหมดจะเป็นการใช้ของภาคราชการ ไม่มีใครเอาไปใช้ทางพาณิชย์ แล้วสิ่งที่จะป้องกันได้มาก ไม่ใช่เรื่องได้ภาษีเพิ่ม แต่จะเป็นการป้องกันการฟอกเงิน พนันผิดกฎหมาย หรือซื้ออะไรที่ผิดกฎหมาย ยาเสพติด รวมถึงเรื่องธุรกิจคอร์รัปชั่น ก็จะทำให้เห็นธุรกรรมที่ไม่ถูกต้องได้” นายอภิศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ ในร่างกฎหมาย e-Payment ยังมีเรื่องการยื่นแบบแสดงรายการในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) ด้วย เดิมจะทำเป็นภาคสมัครใจ แต่ก็มีข้อคิดเห็นจากเอกชนว่า หากเป็นเช่นนั้นเอกชนก็ต้องมี 2 ระบบ จะยุ่งยากกว่า ดังนั้นประเด็นนี้คงต้องหารือกันเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

@@ เล็งเปิดช่องคนชรามีฐานะบริจาคเบี้ยผ่านแบงก์

นายอภิศักดิ์กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลัง กำลังคิดว่าจะเป็นเจ้าภาพ โดยร่วมกับแบงก์ โปรโมทให้คนสูงอายุที่มีฐานะ และต้องการสละเบี้ยคนชรา 600 บาทต่อเดือนให้กับคนชราที่ฐานะยากจน สามารถแจ้งสละที่แบงก์ได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องทุจริต คาดว่าใน 1-2 สัปดาห์นี้ จะรณรงค์เรื่องนี้ใหม่

@@ สั่ง “ธปท.-สรรพากร” ทำสรุปผลงานนโยบายอีเพย์เม้นต์

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้หารือกันว่า จะมีการจัดทำแผนการวางระบบชำระเงิน และ แผนพัฒนาระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ของประเทศในอนาคต ว่าหลังจากนี้จะต้องทำอะไรบ้าง รวมถึงจัดทำรายงานสรุปสิ่งที่ได้ดำเนินการมาแล้ว โดยในเรื่องระบบการชำระเงินนั้น ทาง ธปท. จะเป็นผู้จัดทำ ส่วนเรื่องภาษีทางกรมสรรพากรจะจัดทำ และนำกลับมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป


“คาดว่าเที่ยวหน้า เราจะได้เห็นแผนการชำระเงิน และแผนภาษีอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ว่าจะเป็นอย่างไร แล้วก็จะสรุปสิ่งที่ทำมาแล้วด้วย เพราะตอนนี้ก็ใกล้จะเปลี่ยนรัฐบาล ใกล้เลือกตั้งแล้ว” รมว.คลังกล่าว