ธ.ก.ส. จับมือ สกว. เซ็นเอ็มโอยู หนุนวิจัยนวัตกรรม หวังช่วยเกษตรกรมีรายได้

ธ.ก.ส. ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผลักดันการพัฒนาด้านวิชาการและงานวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อต่อยอดการพัฒนาเกษตรกร ชุมชน ภาคการเกษตร เสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและยั่งยืน

วันนี้ (28 สิงหาคม 2561) ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ บางเขน ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วย ความร่วมมือด้านวิชาการและการพัฒนางานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ระหว่าง นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. และศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อีกทั้งสนับสนุนการนำงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ โดยถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเกษตรกร ชุมชน ภาคการเกษตร ผู้ประกอบการภาคการเกษตร (SMAEs) และเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส. และ สกว. ในช่วงที่ผ่านมา เน้นการลงพื้นที่เพื่อไปพูดคุยและแลกเปลี่ยนกับชุมชน ในการค้นหาปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน จากนั้นนำมาสร้างเป็นเครื่องมือ มีการกำหนดหลักเกณฑ์ ตัวชี้วัด เพื่อใช้ในการพัฒนาและบริหารจัดการชุมชนภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดทำคู่มือศูนย์เรียนรู้ การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเกษตร การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นต้น ซึ่งโมเดลเหล่านี้ เป็นประโยชน์และช่วยยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ชุมชน ตลอดจนผู้ประกอบการภาคเกษตร (SMAEs) ในการพัฒนาอาชีพและรายได้ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ อันเป็นการเสริมความเข้มแข็งและยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก นอกจากนี้ด้านการวิจัยดังกล่าวยังสามารถนำสิทธิบัตรมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส.ได้

นายสุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ กล่าวว่า ความร่วมมือของ สกว. และ ธ.ก.ส. ในครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีการบริหารจัดการสมัยใหม่บนฐานความรู้และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการทำงานผ่านศูนย์เรียนรู้ฯ ธ.ก.ส. ต้นแบบจำนวน 30 ศูนย์ ซึ่งเสริมด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น และเตรียมฐานคิดของชุมชน ผ่านการวิจัยของฝ่ายเกษตร ฝ่ายวิจัยมุ่งเป้า และฝ่ายอุตสาหกรรมของ สกว. เพื่อให้เกิดชุมชน “อุดมสุข” ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างน้อย 600 ชุมชน อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป