แบงก์ชาติชี้ศก.ไทยเริ่มโตกระจาย-ขยายตัวดีทุกภาค ย้ำดำเนินนโยบายการเงินมีอิสระ-ดูผลกระทบ3ด้าน

แบงก์ชาติชี้เศรษฐกิจไทยเริ่มโตกระจาย-ขยายตัวดีทุกภาค ย้ำดำเนินนโยบายการเงินมีอิสระ-ดูผลกระทบ 3 ด้าน ระบุการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยเป็นอำนาจ กนง. จับตาผลกระทบสงครามการค้า

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “นโยบายการเงินโดยธนาคารแห่งประเทศไทย : ทิศทางสู่การเติบโต” ภายในงาน Thailand Focus 2018 : “The Future is Now” โอกาสการลงทุน…ไม่ต้องรออนาคต ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2561 นี้เติบโตได้ดีกว่าที่คาด โดยครึ่งปีแรกขยายตัวถึง 4.8% ซึ่งเป็นการเติบโตได้ดีในทุกภาคส่วน ทั้งการส่งออก การบริโภคในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนว่าการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นเริ่มกระจายตัวมากขึ้น

ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินนั้น ธปท.มีอิสระในการกำหนดนโยบายการเงิน โดยอาศัยข้อมูลประกอบใน 3 ด้าน ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายเงินเฟ้อ และเสถียรภาพภาคการเงิน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศจากมาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงติดตามการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักด้วย

ทั้งนี้ แม้สหรัฐอเมริกาจมีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นนั้น ในส่วนของไทยมีความเป็นอิสระในการพิจารณา แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำนานเกินไปด้วย อย่างไรก็ดี การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะตัดสินใจ

“ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ประเทศไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง พอรองรับต่อความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี โดยไทยอาจจะเข้มแข็งมากที่สุดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่เลยก็ว่าได้ ทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้เรามีอธิปไตยในการกำหนดนโยบายการเงินของเราเอง แตกต่างจากประเทศเกิดใหม่อื่นๆ” นายวิรไทกล่าว

สำหรับประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ถือเป็นความเสี่ยงที่ กนง.จับตา โดยขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปยังสหรัฐ ในสินค้าประเภทเครื่องซักผ้าและโซลาเซลล์ แต่ยังอยู่ในวงจำกัด ซึ่งผลกระทบจากสงครามการค้าจะเห็นได้ชัดขึ้นในปีหน้า อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะได้อานิสงส์จากการกีดกันทางการค้าด้วยเช่นกัน

นายวิรไทกล่าวอีกว่า ในส่วนภาคธนาคารของไทย ในปัจจุบันมีความแข็งแกร่ง โดยมีการตั้งสำรองสูง และสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี อย่างไรก็ดี ในส่วนที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนที่ซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อให้เช่า และเก็งกำไรมากขึ้น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยให้สินเชื่อกับผู้ขอกู้เทียบกับหลักทรัพย์มากขึ้น

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ทางด้านของเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทนั้น ภาคการเงินการธนาคารจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยที่ ธปท. สมาคมธนาคารไทย และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์) ได้ร่วมกันพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุนทางการเงินได้ นอกจากนี้ การใช้ฐานข้อมูล (Big Data) มีส่วนสำคัญอย่างมากในการบริหารจัดการความเสี่ยง และการพัฒนาธุรกิจ

“เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งการแข่งขันที่เปิดกว้างนั้น จะทำให้พ่อค้าคนกลางหายไป แต่ธุรกิจขนาดเล็กที่มีนวัตกรรมจะสามารถแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว