ดอลลาร์ผันผวน จับตาความคืบหน้า NAFTA และประเด็นการค้าจีน-สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 2731 สิงหาคม 2561 ดัชนีดอลลาร์มีความผันผวนตลอดสัปดาห์เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก โดยปรับตัวอ่อนค่าในช่วงต้นสัปดาห์หลังจากที่ตลาดผิดหวังต่อถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประะานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมประจำปีที่ Jackson Hole โดยนายพาวเวลล์กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการปกป้องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ถึงแม้ว่าถ้อยคำดังกล่าวจะเป็นการตอบโต้การวิจารณ์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ออกมาแย้งการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดีประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและความคืบหน้าของประเทศผู้ร่วมลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ยังคงเป็นที่จับตามอง โดยการเจรจาประเด็นการค้าระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับกลางของจีน-สหรัฐในสัปดาห์ที่แล้วนั้นแทบไม่ได้ช่วยคลี่คลายความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและรัฐบาลสหรัฐได้จัดการประชุมรับฟังในสัปดาห์ที่แล้วเพื่อพิจารณาข้อเสนอจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ด้วย ซึ่งมีแนวโน้มว่าภาษีนำเข้าชุดใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายเดือน ก.ย.หรือต้นเดือน ต.ค. โดยการเจรจาระหว่างจีนกับสหรัฐในสัปดาห์ที่แล้วเกิดขึ้นในช่วงที่ทั้งสองฝ่ายทำตามคำขู่ที่จะเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมจากสินค้ามูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ของอีกประเทศหนึ่ง ทำให้รัฐบาลจีนยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ WTO เรื่องภาษีนำเข้าของสหรัฐด้วย และรัฐบาลสหรัฐเรียกร้องให้รัฐบาลจีนปรับปรุงช่องทางเข้าถึงตลาด คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ, ปรับลดเงินอุดหนุนอุตสาหกรรมจีน และปรับลดยอดเกินดุลการค้าของจีนต่อสหรัฐลงจากระดับ 3.75 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ทางการจีนยังกล่าวเตือนรัฐบาลสหรัฐว่า เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศมีความเกี่ยวโยงกัน ทั้งในระดับจุลภาคและมหัพภาค ซึ่งการที่สหรัฐจะจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าของจีนเพิ่มนั้น จะทำให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐด้วย ในส่วนของข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) นั้นมีรายงานว่าสหรัฐกับเม็กซิโกตกลงกันที่จะปรับเปลี่ยนความตกลงการค้า โดยสหรัฐยังกดดันให้แคนาดายอมรับเงื่อนไขใหม่ด้านการค้ารถยนต์และกฎการคลี่คลายข้อพิพาท เพื่อที่แคนาดาจะได้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของ NAFTA ต่อไป นางแมรี่สก็อต กรีนวู้ด ประธานสภาธุรกิจแคนาดา-อเมริกัน หวังว่ารัฐบาลแคนาดาจะสามารถลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่ได้ภายในสัปดาห์นี้ โดยนางกรีนวู้ดกล่าวว่า ถึงแม้แคนาดาไม่ค่อยพอใจต่อคำขู่จากสหรัฐ ที่ว่าสหรัฐจะเรียกเก็บภาษีรถยนต์ที่นำเข้าจากแคนาดา ถ้าหากแคนาดาไม่ต้องการเข้าร่วมการเจรจา แต่แคนาดาก็ยอมรับว่าโอกาสในการบรรลุข้อตกลงอาจไม่ยาวนานนัก เนื่องจากหากแคนาดาไม่ทำข้อตกลงในขณะนี้ สหรัฐอาจจะไปทำข้อตกลงอื่นกับจีน หรือองค์กรการค้าโลก นอกจากนี้ในระหว่างสัปดาห์มีการเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจซึ่งสนับสนุนในค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ เช่น ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 133.4 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งปรับตัวดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นจะลดลงสู่ระดับ 126.7 และสูงกว่าระดับ 127.4 ในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้แล้ว ผลสำรวจพบว่าผู้บริโภคที่มีมุมมองดีขึ้นต่อสภาวะเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 24.3% จากระดับ 22.9% ในเดือนกรกฎาคม ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาสที่ 2 ออกมาอยู่ที่ระดับ 4.2% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ 4.1% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.0% โดยการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสที่ 2 ดังกล่าวถือเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดในรอบ 4 ปี หรือนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2557

สำหรับการเคลื่อนไหวภายในประเทศไทยนั้น ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (27/8) ที่ระดับ 32.62/32.64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (24/8) ที่ระดับ 32.74/32.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาวะเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ โดยผู้ว่าการ ธปท.ยอมรับว่ารู้สึกไม่สบายใจที่ในช่วง 3-4 วันนี้ มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาพักในตลาดพันธบัตรระยะสันของไทยมากขึ้น และและอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค อาจเป็นเพราะฐานะด้านต่างประเทศของไทยมีความเข้มแข็งมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน โดย ธปท.จะจับตาประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด แต่คงยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใด ๆ ออกมาในช่วงนี้ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งกล่าวถึงกรณีที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ว่าความผันผวนของค่าเงินดังกล่าวเกิดจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก เช่น ความไม่แน่นอนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งปัจจัยเรื่องสงครามการค้า แต่ทั้งนี้ มองว่าค่าเงินบาทยังผันผวนน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เนื่องจากประเทศดังกล่าวมีสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในหุ้นและพันธบัตรมากกว่าไทย จึงทำให้ค่าเงินมีความผันผสวนมากกว่า ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.50-32.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.73/32.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (27/8) ที่ระดับ 1.1634/1.1635 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (24/8) ที่ระดับ 1.1570/1.1571 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเจ้าหน้าที่เยอรมนีและสหรัฐกล่าวในวันเสาร์ว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังกดดันให้สหาภพยุโรป (อียู) เร่งรัดการเจรจาต่อรองทางการค้าโดยการเจรจานี้เริ่มต้นหลังจากการประชุมในเดือน ก.ค.ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐกับนายฌอง-คล็อต ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) โดย ปธน.ทรัมป์เคยตกลงกับนายยุงเกอร์ในการประชุมว่า สหรัฐจะงดเว้นจากการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ยุโรป ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายเริ่มต้นการเจรจาต่อรองกันเรื่องการปรับลดภาษีนำเข้าเหล็กกล้า, อะลูมิเนียม และสินค้าอื่น ๆ การบรรลุข้อตกลงกันในครั้งนั้นช่วยลดภัยคุกคามจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับอียู แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐแสดงความไม่พอใจที่การเจรจาคืบหน้าไปได้อย่างเชื่องช้าในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้นักลงทุนยังคงติดตามประเด็นที่อังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) ต้องการที่จะบรรลุข้อตกลงเรื่องการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนหลังจากที่นายมิเชล บาร์นิเยร์ ตัวแทนเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป (EU) ได้กล่าวในการเจรจาข้อตกลง (Brexit) ว่ายุโรปได้เตรียมเสนอให้อังกฤษได้รับสถานะการเป็นหุ้นส่วนที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งจากคำกล่าวดังกล่าวถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป และถือเป็นการผ่อนคลายจากเงื่อนไขเดิมที่สหภาพยุโรปได้ระบุว่าอังกฤษจะต้องตัดสินใจเลือกความสัมพันธ์ในอนาคตในรูปแบบที่มีอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งบ่งชี้ว่าสหภาพยุโรปได้ลดท่าทีแข็งกร้าวต่อข้อเสนอจากอังกฤษ เพื่อเร่งกระบวนการเจรจาข้อตกลง Brexit ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1595-1.1733 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1674/1.1675 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในสัปดาห์์นี้ เปิดตลาดในวันจันทร์ (27/8) ที่ระดับ 111.19/111.20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (24/8) ที่ระดับ 111.44/111.45 เยน/ดอลลาร์สหรับ ค่าเงินเยนได้รับแรงหนุนหลังจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงยึดกลยุทธ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อปกป้องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.78-111.83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.77/110.78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ