เงินบาทกลับมาอ่อนค่า หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน

ค่าเงินบาท ธุรกิจแลกเงิน
แฟ้มภาพ

“เงินบาทกลับมาอ่อนค่า หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน ขณะที่ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครั้งใหม่ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงแรก สอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับมีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ รับรายงานข่าวที่สหรัฐฯ และเม็กซิโกสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย.นี้ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลายตัวออกมาดีกว่าที่คาด นอกจากนี้ แรงขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ และสัญญาณจากธปท. ที่สะท้อนว่า มีการติดตามและเข้าดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นปัจจัยกดดันเงินบาทในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ (31 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.74 จากระดับ 32.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 ส.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่สัญญาณความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า ตลอดจนถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ข้อมูลตลาดแรงงาน ประกอบด้วย ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ค่าจ้าง และตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนส.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน รายจ่ายเพื่อการก่อสร้างเดือนก.ค. ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ของยุโรป จีน และญี่ปุ่นในเดือนส.ค.

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในแดนบวกเกือบตลอดสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,721.58 จุด ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.04% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 9.51% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 45,092.56 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 439.01 จุด เพิ่มขึ้น 1.35% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ ตามทิศทางของตลาดต่างประเทศ โดยมีแรงหนุนจากการตีความของตลาดว่าเฟดจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงทวิภาคีกับเม็กซิโกทำให้ตลาดคลายกังวล อย่างไรก็ดี กรอบการปรับตัวขึ้นของดัชนี SET เริ่มจำกัดลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเปราะบางของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนรอบใหม่ที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,710 และ 1,700 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,730 และ 1,750 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ข้อมูล PMI เดือนส.ค. ของญี่ปุ่นและจีน