EXIM BANK เสนอสิทธิพิเศษสนับสนุนผู้ส่งออกไทยบุกตลาดแอฟริกา พร้อมเจรจาหาลู่ทางส่งเสริมการค้าการลงทุนไทย-เคนยา

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ทวีปแอฟริกาเป็นตลาดใหม่ หรือที่เรียกกันว่า New Frontiers ของผู้ประกอบการไทย EXIM BANK มีสิทธิพิเศษให้แก่ลูกค้ารายใหม่ที่ต้องการทำประกันการส่งออกกับ EXIM BANK เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ประกอบด้วย 1.ส่วนลดอัตราเบี้ยประกันการส่งออก 50% จากอัตราเบี้ยประกันที่คำนวณได้ และ 2.วิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อในต่างประเทศ ฟรี! 2 รายผู้ซื้อ และลดค่าข้อมูล 50% สำหรับผู้ซื้อรายที่ 3-5 โดย EXIM BANK จะชดเชยความเสียหายจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันในอัตรา 80% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงทางการค้าและการเมือง ตั้งแต่บัดนี้จนถึงสิ้นปี 2561

นายพิศิษฐ์เปิดเผยต่อไปว่า EXIM BANK อยู่ระหว่างการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยและเคนยา เพื่อส่งเสริมการการค้าการลงทุนไทย-เคนยา โดยได้นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ EXIM BANK เดินทางเยือนเคนยา เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเข้าพบนายเชิดเกียรติ อัตถากร เอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา นายธนิษฐ์ งานสัมพันธฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงไนโรบี รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในเคนยา อาทิ ธนาคารกลางเคนยา ธนาคารพาณิชย์แห่งแอฟริกา สำนักงานส่งเสริมการลงทุนเคนยา องค์การบริหารเขตอุตสาหกรรมส่งออก องค์กรพันธมิตรภาคเอกชนเคนยา และสมาคมผู้ผลิตเคนยา รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจในเคนยา อาทิ บริษัท จามิล เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมในเคนยา และบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ไซค์ เคนยา จำกัด

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า จากการเดินทางเยือนเคนยาครั้งนี้พบว่า ปัจจุบันไทยยังมีความเชื่อมโยงทางธุรกิจกับเคนยาค่อนข้างน้อยทั้งด้านการค้าและการลงทุน โดยไทยส่งออกไปเคนยาคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.1% ของมูลค่าส่งออกรวม ขณะที่เคนยามีความต้องการนำเข้าสินค้าอีกมากในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบ และสินค้าทุน เนื่องจากภาคการผลิตของเคนยายังไม่สามารถตอบสนองความต้องการภายในประเทศได้เพียงพอ ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก เช่นเดียวกับการลงทุนที่ยังมีผู้ประกอบการไทยเพียงไม่กี่รายที่เข้าไปลงทุนในเคนยา ขณะที่ประเทศคู่แข่งอื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ จีนและอินเดีย ได้เข้าไปลงทุนในเคนยาแล้วจำนวนมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเคนยาเป็นตลาดใหม่ที่ห่างไกล ซึ่งผู้ประกอบการไทยยังไม่คุ้นเคยและขาดข้อมูล EXIM BANK จึงต้องการขยายความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนของไทยและเคนยาเพื่อส่งเสริมให้การค้าและการลงทุนไทย-เคนยาขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจของเคนยาที่คาดว่าขยายตัว 6-7% ในอีก 5 ปีข้างหน้า และพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนของเคนยาที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ขณะเดียวกันเคนยายังเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกที่สามารถเป็นสะพานเชื่อมในการกระจายสินค้าไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้ รัฐบาลเคนยามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่นักลงทุนต่างชาติ ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมิใช่ภาษี อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร มีศูนย์ให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service Center) เป็นต้น

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเคนยา ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากเคนยา ได้แก่ เคมีภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งแปรรูป แผงวงจรไฟฟ้า สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ในด้านการลงทุน ผู้ประกอบการไทยได้เข้าไปลงทุนในเคนยาบ้างแล้วในธุรกิจร้านอาหารไทย สปา และโรงแรม


“เคนยาเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเป็นอันดับต้นๆ ในทวีปแอฟริกา ทั้งยังเป็นเหมือนสะพานเชื่อมในการกระจายสินค้าสู่ทวีปแอฟริกาตอนกลาง EXIM BANK จึงต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปเจาะตลาดการค้าหรือเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในเคนยา โดย EXIM BANK พร้อมให้คำปรึกษาและนำผู้ประกอบการไทยเข้าตลาดเคนยา โดยอาจเริ่มต้นจากการส่งออกสินค้าไปจำหน่าย เพื่อทดลองตลาดและทำความรู้จักกับพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเคนยา แล้วจึงขยายกิจการเข้าลงทุนในท้องถิ่นของเคนยา ซึ่งมีความต้องการสินค้าและบริการที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ยุคใหม่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายพิศิษฐ์กล่าว