ค่าเงินบาทแข็งค่า หลังตัวเลขเงินเฟ้อดีเกินคาด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 3 กันยายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/9) ที่ 32.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (31/8) ที่ 32.72/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะเก็บภาษีนำเข้าจากจีนอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นมาตรการลงโทษล่าสุดเพื่อบีบบังคับให้จีนปรับปรุงช่องทางเข้าถึงตลาด, ลดเงินอุดหนุนด้านอุตสาหกรรม และลดยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมหาศาลกับสหรัฐ การดำเนินการดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อค่าเงินหยวนซึ่งกำลังถูกกดดันในช่วงขาลงจากการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินของจีน และส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้น ซึ่งจะหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ในส่วนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-แคนาดา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐกล่าวในวันเสาร์ว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะให้แคนาดาอยู่ในความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) และเขากล่าวเตือนสภาคองเกรสว่าไม่ควรเข้ามาก้าวก่ายในการเจรจาการค้า ไม่เช่นนั้นเขาจะยกเลิกกติกาสัญญาการค้าแบบไตรภาคี โดย ปธน.ทรัมป์ได้แจ้งสภาคองเกรสในวันศุกร์ว่าเขามีความประสงค์ที่จะลงนามในข้อตกลงแบบทวิภาคีกับเม็กซิโก หลังจากการเจรจาระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับรัฐบาลแคนาดาประสบปัญหา สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ส.ค.ขยายตัว 1.6% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 1.51-1.59% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.69-32.80 บาท/ดอลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.72/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (3/9) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1591/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ 31/8) ที่ 1.1669/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยผลสำรวจพบว่า ภาคการผลิตของฝรั่งเศสขยายตัวมากขึ้นในเดือน ส.ค. แต่น้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ โดยได้แรงหนุนจากยอดสั่งซื้อในประเทศ ทั้งนี้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของไอเอชเอส มาร์กิตสำหรับภาคการผลิตขั้นปลายในฝรั่งเศส เพิ่มขึั้นสู่ระดับ 53.5 ในเดือน ส.ค. จาก 53.3 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน พ.ค. นอกจากนี้ภาคการผลิตของเยอรมนีขยายตัวลดลงในเดือน ส.ค. เนื่องจากยอดสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่ลดลง และความเชื่อมั่นที่ลดลงจากความขัดแย้งทางการค้า บริษัทมาร์กิตเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคการผลิต ซึ่งมีสัดส่วนราว 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจโดยรวม ลดลงสู่ระดับ 55.9 ในเดือน ส.ค. จาก 56.9 ในเดือน ก.ค. นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่าเป็นเพราะนโยบายกีดกันทางการค้ามากขึ้นของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ทำให้แนวโน้มภาคการผลิตของเยอรมนีมืดมน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1586-1.1626 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1610/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้ (3/9) เปิดตลาดที่ระดับ 110.99/00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (31/8) ที่รดับ 111.03/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกิจกรรมภารคการผลิตของญี่ปุ่นขยายตัวในเดือน ส.ค.ในอัตราที่รวดเร็วกว่าเดือน ก.ค.เล็กน้อย ในขณะที่ยอดสั่งซื้อใหม่เติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ยอดสั่งซื้อเพื่อส่งออกหดตัวลง และปัจจัยนี้อาจทำให้นักลงทุนกังวลกับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า มาร์กิต/นิกเกอิรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของญี่ปุ่นปรับขึ้นจาก 52.3 ในเดือน ส.ค. สู่ 52.5 ในเดือน ส.ค. นายโจ เฮยส์ นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทไอเอชเอส มาร์กิตกล่าวว่า “ผลสำรวจนี้บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นปานกลาง โดยได้รับแรงหนุนจากยอดสั่งซื้อใหม่ที่เติบโตเร็วขึ้น อย่างไรก็ดีอุปสงค์ได้รับแรงหนุนจากภายในญี่ปุ่นเป็นหลัก แต่ยอดขายส่งออกร่วงลงในเดือน ส.ค. นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นก็มีส่วนทำให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงด้วย” ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.86-111.18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.98/01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน ส.ค. (4/9), กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือน ก.ค. (5/9), ดัชนีภาวะธุรกิจ (Business conditions Index) ของรัฐนิวยอร์ก (5/9), ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐเดือน ส.ค. (6/9), กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ส.ค. (7/9), อัตราการว่างงานของสหรัฐ (7/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.00/-2.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.50/-2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ