คลังจ่อเปิดไลเซนส์จำนำรถ รอธปท.ขีดวงเงินกู้-ดอกเบี้ย

“คลัง-ธปท.” เตรียมเปิดให้ไลเซนส์ “จำนำทะเบียนรถ” เร่งจัดระเบียบธุรกิจต้อนเข้าระบบ ก่อนออกกฎหมายกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน แย้มวงเงินกู้รายละไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท เน้นกลุ่มรายย่อย ล่าสุด คลังเปิดทาง “พิโกไฟแนนซ์” ทำธุรกิจรับจำนำทะเบียนได้แล้ว

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาครัฐกำลังจะเปิดให้ใบอนุญาต (ไลเซนส์) ประกอบธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์สำหรับรายย่อย โดยให้วงเงินกู้มากกว่า 50,000 บาท/รายผู้กู้ โดยขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดทั้งคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ทุนจดทะเบียนของบริษัท อัตราดอกเบี้ยกู้ วงเงินกู้ต่อราย วัตถุประสงค์การขอกู้ ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปออกมาโดยเร็วที่สุด

“กระทรวงการคลังกับ ธปท.กำลังศึกษาเรื่องนี้ และทาง ธปท.ได้รับหลักการแล้ว กำลังทำรายละเอียดอยู่ โดยศึกษาสภาพตลาดเพื่อดูต้นทุน และกำหนดอัตราดอกเบี้ยออกมา การให้วงเงินอาจจะให้เต็มมูลค่าหลักประกัน หรือใกล้ ๆ กับหลักประกันที่ผู้กู้นำมาวาง แต่จะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งทาง ธปท.รับปากว่าจะเร่ง ดังนั้นคงอีกไม่นานก็น่าจะออกมาได้” นายพรชัยกล่าว

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจจะต้องเป็นนิติบุคคล แต่ทุนจดทะเบียนจะอยู่ที่เท่าใดนั้น ทาง ธปท.จะกำหนด รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากประชาชน และวงเงินให้สินเชื่อต่อรายที่จะมีวงเงินมากพอสมควร ซึ่งการให้สินเชื่อจะต้องพิจารณาว่า ผู้กู้จะนำเงินไปทำอะไร โดยผู้กู้อาจจะต้องการเงินด่วนเพื่อไปขยายธุรกิจ

สำหรับการดึงสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเข้าสู่ระบบ เป็นเรื่องที่ทำระหว่างทางก่อนจะออกกฎหมายการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

“ปัจจุบันเนื่องจากยังไม่มีการจดทะเบียนผู้ที่ทำธุรกิจนี้โดยตรง ก็เลยทำให้ตัวเลขสินเชื่อที่เกี่ยวกับจำนำทะเบียนรถ หรือ car for cash ค่อนข้างกระจัดกระจาย โดยข้อมูลที่เราได้มาเป็นการศึกษาเบื้องต้นว่า ถึงช่วงประมาณกลางปีที่ผ่านมา มีสินเชื่อจำนำทะเบียนคงค้างในระบบราว 2 แสนล้านบาท มีผู้ให้บริการมากกว่า 1,000 ราย และมีผู้ใช้บริการสินเชื่อประมาณ 3 ล้านราย” นายพรชัยกล่าว

นอกจากนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2561 ได้มีการออกประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อเพิ่มขอบเขตการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (พิโกไฟแนนซ์) สามารถทำธุรกิจรับจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ได้ จากเดิมที่ห้ามทำ ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ดีขึ้น

“เดิมพิโกไฟแนนซ์จำกัดไม่ให้สามารถทำสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แต่ตอนนี้เราเห็นว่าประชาชนส่วนหนึ่งมียานพาหนะในการประกอบอาชีพอยู่ สามารถจะนำยานพาหนะดังกล่าวมาเปลี่ยนเป็นทุนได้ จึงมีการแก้ไขประกาศให้ทำจำนำทะเบียนรถได้ โดยยังเป็นไปตามกติกาเดิม คือ ปล่อยกู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท/ราย และคิดอัตราดอกเบี้ยรวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วไม่เกิน 36%” นายพรชัยกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์รายเดิมที่มีไลเซนส์อยู่แล้ว สามารถรับจำนำทะเบียนรถได้เลย ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจ ก็ต้องเข้ามาขอไลเซนส์ตามกระบวนการปกติ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้สนใจเข้ามาขอไลเซนส์พิโกไฟแนนซ์มากขึ้น เพราะในหลายพื้นที่มีการทำธุรกิจจำนำทะเบียนรถกันอยู่ค่อนข้างมาก

“ปัจจุบันธุรกิจพิโกไฟแนนซ์มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจแล้ว 287 ราย ใน 60 จังหวัด โดยผู้ประกอบการมีการปล่อยสินเชื่อแล้ว 256 ราย ใน 60 จังหวัด มีผู้ได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว 26,500 ราย (บัญชี) คิดเป็นยอดเงินให้สินเชื่อสะสม 680 ล้านบาท และเป็นหนี้เสีย 2.69%” นายพรชัยกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันในตลาดจำนำทะเบียนรถ มีการให้วงเงินในการรับจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์เฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 บาท/คัน และรถยนต์เฉลี่ยที่ 200,000 บาท/คัน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่คิดกันมีตั้งแต่ 30-50% ถือว่าสูง แถมบางรายยังทำสัญญาที่เอาเปรียบลูกค้า ทำให้ต้องจ่ายเงินยิบย่อยอีก ซึ่งการที่รัฐจะทำให้เข้ามาอยู่ในระบบจะช่วยปกป้องผู้บริโภค อย่างไรก็ดี คงต้องรอ ธปท.กำหนดรายละเอียดเหล่านี้ให้ชัดเจนอีกที