“อนุชิต” เปิดปม “อีเพย์เมนต์” กังวลกฎหมายสรรพากรสะดุด สนช.

สัมภาษณ์

กว่า 2 ปีที่ผ่านมา แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ของรัฐคืบหน้าไปมาก ภาพของประเทศไทยจึงเข้าใกล้ “สังคมไร้เงินสด” มากขึ้น โดยล่าสุดแบงก์เตรียมขยายวงเงินการโอนเงินผ่านแบงก์ให้สูงขึ้น ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้พูดคุยกับ “ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล” ที่ปรึกษาคณะทำงาน National e-Payment ผู้เป็นมันสมองสำคัญ มาฉายภาพให้ชัดยิ่งขึ้น

Q : ทำไมต้องเพิ่มวงเงินโอนเป็น 7 แสนบาท

จริง ๆ แล้ว พร้อมเพย์ที่เราใช้กันมาโดยตลอด มีการจำกัดที่ 700,000 บาท/รายการอยู่แล้ว เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แบงก์มีการแข่งขันกันลดค่าธรรมเนียม ตอนนั้นคือจังหวะที่เราเปลี่ยนระบบการโอนเงิน ย้ายจากระบบเดิมที่โอนด้วยเลขบัญชีเข้าสู่ระบบพร้อมเพย์ ดังนั้นที่เราโอนเงินทุกวันนี้เป็นการโอนผ่านระบบใหม่แล้ว ซึ่งพอย้ายเข้ามาระบบใหม่ทำให้ต้นทุนถูกลง แบงก์จึงมีการไปแข่งขันกันลดค่าธรรมเนียม

แต่ตอนนั้นแบงก์ก็บอกว่า ขอให้โอนเท่าเดิมก่อน คือไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน ในช่วงเปลี่ยนผ่านพร้อมแล้วค่อยขยาย เป็น 700,000 บาท เท่ากับพร้อมเพย์ ตอนนั้นคนไม่รู้ว่าระบบหลังบ้านเปลี่ยนไปแล้ว ฉะนั้นไม่ว่าจะโอนด้วยเลขบัตรประชาชน (ID) เบอร์มือถือ หรือเลขที่บัญชี ก็จะเหมือนกันหมด

Q : ตัวเลข 7 แสนบาทมาจากไหน

จริง ๆ แล้วความต้องการโอนเงินของคนในประเทศไม่ได้จบแค่นั้น โดยจบที่ 700,000 บาท เป็นการคุยกับทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ว่าให้ทำแค่นี้ก่อน ซึ่งปัจจุบันคนมีการโอนเงินข้ามแบงก์ โดยใช้ระบบ “บาทเน็ต” แต่ก็มีปัญหาคือ โอนเช้า ได้บ่าย ไม่เรียลไทม์ จึงเกิดปัญหาว่า คนเข้าไปถอนเงินที่แบงก์หนึ่งไปใส่อีกแบงก์หนึ่งได้ทันที ทำให้มีปริมาณเงินสดที่สาขาถึง 70% โดยเฉพาะรายการใหญ่ ขณะเดียวกันระบบบาทเน็ต นอกจากไม่เรียลไทม์แล้ว ยังมีการส่งรายการไปโครงข่ายในต่างประเทศอีก ดังนั้นเราต้องการย้ายระบบพวกนี้เข้ามาเป็นระบบใหม่หมด ให้เป็นเรียลไทม์ และชำระ (settle) ในประเทศให้หมด จึงต้องขยายวงเงินให้สูงขึ้น

นอกจากนี้ เรายังมีแผนการพัฒนาระบบการชำระเงินไปถึงเรื่องตลาดทุนด้วย ซึ่งจะขยายวงเงินเป็น 2 ล้านบาท ในระยะถัดไปเพื่อให้สอดรับกับระบบการชำระและส่งมอบหลักทรัพย์ของตลาดหุ้น รวมถึงเรื่องฟันด์คอนเนกต์เฟส 2 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 62 ซึ่งตลาดทุนก็จะเริ่มใช้ระบบ settlement ใหม่

Q : ประเมินผลกระทบค่าฟีของแบงก์อย่างไร

ปกติคนที่ทำธุรกรรมส่วนใหญ่กว่า 99% ก็โอนเงินอยู่ในมูลค่าที่ไม่ได้สูงอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีเรื่องผลกระทบค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) คงต้องไปถามทางสมาคมธนาคารไทย

Q : จะเอื้อภาคธุรกิจมากขึ้น

ก็มีส่วนนี้ด้วย เพราะการที่เราขยายวงเงินโอน ธุรกิจจะได้เลิกใช้เช็ค เพราะต้นทุนสูง แบงก์ทำไปก็ขาดทุน

Q : ยังต้องผลักดันอะไรอีก

สิ่งที่สำคัญมากที่จะเปลี่ยนประเทศไทย เพื่อทำให้ภาคธุรกิจในไทยหันมาทำธุรกรรมเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ คือ การเปลี่ยนแปลงเรื่องของภาษีหัก ณ ที่จ่าย (withholding tax) ให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ เพราะไม่อย่างนั้นเวลาชำระเงิน (จ่ายเงิน 100 บาท จะมี 97 บาทเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนอีก 3 บาท ต้องออกเป็นกระดาษวิ่งไปส่งกรมสรรพากร)

แต่ปัญหาคือ ตอนที่เราเริ่มทำโปรเจ็กต์ e-Payment เมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว เรามีการแก้กฎหมายของกรมสรรพากร 22 มาตราทันที แต่หลังจากนั้นเรื่องก็ไปค้างอยู่กฤษฎีกาถึง 2 ปี พอถึงวันนี้ก็ไปค้างอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก มีการตั้งอนุกรรมการศึกษาอะไรอีกมากมาย ซึ่งต้องบอกว่ากฎหมายนี้สำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวชี้ว่าจะทำให้ประเทศติดหรือเดินต่อไปได้

ที่สำคัญ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต่างเห็นพ้องต้องกัน โดยทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติสนับสนุน อยากเร่งผลักดันออกมา แต่ที่โดนค้าน คือมีข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้วค้าน แล้วบอกว่าพูดแทนเอกชน แต่ไม่น่าใช่ เพราะเอกชนเขาเรียกร้องให้ทำ ดังนั้นผมก็ไม่รู้ว่า เขาเถียงเพื่อใคร

Q : ห่วงเรื่องให้แบงก์รายงานธุรกรรมหรือเปล่า

การให้แบงก์รายงานธุรกรรมจำเป็น เพราะถ้าไม่รายงาน ธุรกรรมจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างไร คำถามว่า การกำหนดที่ 3,000 ครั้ง/ปี โดยคนทั่วไปคงไม่โอนถึง 3,000 ครั้ง จะมีก็แต่พวกเจ้ามือหวย พวกค้ายาเสพติด หรือพวกหลอกลวงคนให้โอนเงินเข้ามา แล้วข้อมูลเหล่านี้กรมสรรพากรก็มีสิทธิเรียกดูอยู่แล้วในปัจจุบัน ไม่ใช่ไม่มี เราแค่ทำให้เป็นระบบขึ้นแค่นั้น ไม่อย่างนั้นอาจจะมีการขอโดยใช้ดุลพินิจ มีการเลือกปฏิบัติ ยิ่งทำให้กลั่นแกล้งคนได้ง่ายด้วยดังนั้น ผมว่าถ้าเราไม่เดินไปทางนี้ แล้วจะมาบ่นเรื่องคอร์รัปชั่น ความโปร่งใสอะไร ทำไม ถามว่าธุรกรรม 3,000 ครั้ง/ปี นี่ใครกระทบบ้างล่ะ ซึ่งการไปเถียงในประเด็นนี้ มันไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ หรือคนที่ทำถูกต้อง

Q : ถ้าปลดล็อกกฎหมายนี้ได้จะเกิดอะไรขึ้น

พวกการใช้เช็คต่าง ๆ จะได้เลิก การค้าขายก็จะลดต้นทุนไปมหาศาล ความสะดวกจะเกิดขึ้นเยอะมาก ไม่อย่างนั้นทาง กกร.คงไม่เรียกร้อง ซึ่งเอกชนเขาเป็นคนที่รู้จริง ว่าช่วยลดภาระไปเยอะมาก เขาถึงสนับสนุน