ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แต่ยังคงอยู่ใกล้ระดับแข็งค่าสุดในรอบ 27 เดือน โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ตลอดจนความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจังหวะเวลาการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านได้ส่งสัญญาณที่สอดคล้องกันถึงโอกาสความเป็นไปได้ที่จะมีการเริ่มลดงบดุลในการประชุมเฟดเดือนก.ย. ที่จะถึงนี้ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับแรงหนุนเป็นระยะ จากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยจากนักลงทุนต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ด้วยเช่นกัน
สำหรับในวันศุกร์ (11 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 33.23 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้กับระดับ 33.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 ก.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (14-18 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.10-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศน่าจะอยู่ที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 ส.ค. ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนส.ค. ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้าน การอนุญาตก่อสร้าง และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนก.ค. ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิ สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนมิ.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจมีจุดสนใจเพิ่มเติมที่บันทึกการประชุมเฟด และถ้อยแถลงจากเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางจังหวะการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ รวมถึงประเด็นความคืบหน้าของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ
ส่วนตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,561.31 ลดลง 1.07% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงประมาณ 14.59% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 36,112.02 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 539.59 จุด ลดลง 3.57% จากสัปดาห์ก่อน
ดัชนีตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงกดดันตลอดสัปดาห์จากการคาดการณ์ว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/2560 ของบจ. อาจจะมีภาพรวมที่แย่ลง นอกจากนี้ ดัชนี SET ยังเผชิญแรงขายเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในคาบสมุทรเกาหลี ภายหลังสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือแสดงท่าทีตอบโต้กัน โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 1,556.22 จุดในช่วงปลายสัปดาห์
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (14-18 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,555 และ 1,540 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,570 และ 1,580 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ สำคัญ ได้แก่ รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ ดัชนีการผลิตของเฟดฟิลาเดลเฟียเดือนส.ค. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกเดือนก.ค. ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ อาทิ จีดีพีของประเทศแถบยุโรป