Amazon Effect ขยายวงกว้าง จากระดับผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจ

ภาพ Pixabay

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ขวัญใจ เตชเสนกุล EXIM BANK

หลายท่านคงเคยได้ยินหรือได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจ e-Commerce ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะธุรกิจค้าส่งค้าปลีกที่กำลังต้องปรับตัวอย่างหนักจากการที่ผู้บริโภคยุคใหม่หันไปซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่

ระดับผู้ประกอบการเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจาก e-Commerce แต่ในระดับเศรษฐกิจมหภาคก็กำลังได้รับผลกระทบจาก e-Commerce เช่นกัน

ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2561 ของธนาคารกลางสหรัฐ (Economic Policy Symposium 2018) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24-25 สิงหาคมที่ผ่านมา มีหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวและได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคือประเด็น “Amazon effect”

Amazon effect ถูกตั้งชื่อตามธุรกิจ e-Commerce อันดับหนึ่งของโลกอย่าง Amazon.com โดยพูดถึงผลกระทบจากการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce ที่มีต่อเศรษฐกิจมหภาคในหลายมิติ ได้แก่

1.อัตราเงินเฟ้อ ผู้อ่านหลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ในการซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งจุดเด่นที่สำคัญของการซื้อสินค้าออนไลน์ คือการที่ผู้บริโภคอย่างเราสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าจากผู้ขายทั่วโลก ทำให้สามารถเลือกซื้อสินค้าที่ราคาถูกที่สุดได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงและถูกกล่าวหาว่าเป็นปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยก็กำลังอยู่ในภาวะเงินเฟ้อต่ำเช่นเดียวกัน โดยนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% มาตลอด โดยจากถ้อยแถลงของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุดก็มีการพูดถึงผลกระทบของ e-Commerce ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยแล้วเช่นกัน

2.การลงทุนและสินเชื่อของสถาบันการเงิน มีนักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักที่ออกมาพูดถึงรูปแบบของการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce เนื่องจากภาคธุรกิจเริ่มหันมาลงทุนในรูปของสินค้าทุนที่จับต้องไม่ได้ (intangible capital) อาทิ ซอฟต์แวร์ สิทธิบัตร หรือ e-Commerce platform แทนการลงทุนในที่ดินหรือเครื่องจักรเช่นในอดีต ขณะที่สถาบันการเงินในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อเพื่อการลงทุนในรูปแบบดังกล่าว ทำให้สินเชื่อภาคธุรกิจในหลายประเทศขยายตัวช้า แม้อยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำก็ตาม ทั้งนี้ สินเชื่อภาคธุรกิจของสหรัฐชะลอลงตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา และขยายตัวเพียง 2.4% ในปี 2560 ต่ำสุดนับตั้งแต่ hamburger crisis ในปี 2551 แม้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับทิศทางการลงทุนของภาคธุรกิจดังกล่าว

3.การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง แน่นอนว่าเมื่ออัตราเงินเฟ้อถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินไม่สอดคล้องกับระดับอัตราดอกเบี้ยจากรูปแบบการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเกิดขึ้นของ e-Commerce ย่อมทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศที่ดำเนินนโยบายการเงินแบบ inflation targeting ต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น และหลายฝ่ายเริ่มพูดถึงการนำเครื่องมืออื่น ๆ มาใช้แทนการดำเนินนโยบายการเงินแบบ inflation targeting แล้วเช่นกัน

แม้ว่า Amazon Effect จะพูดถึงผลกระทบของ e-Commerce ที่มีต่อเศรษฐกิจมหภาคและผู้กำหนดนโยบายเป็นหลัก แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการอาจเรียนรู้ได้จาก Amazon Effect คือ โลกการค้าในยุคปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคแห่งการแข่งขันด้านราคาอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคาสินค้าจากทั่วทุกมุมโลกได้ทุกที่ทุกเวลา การสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าเพื่อหลีกหนีการแข่งขันด้านราคาถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญของผู้ประกอบการยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม หากยังจำเป็นต้องผลิตสินค้ารูปแบบเดิมที่มีคู่แข่งอยู่ทั่วทุกมุมโลก การพัฒนาศักยภาพการผลิตและการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพก็ยังถือเป็นหัวใจของการอยู่รอดในโลกการค้ายุค e-Commerce

 

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK