ดอลลาร์แข็งค่า ตลาดรอดูท่าทีการค้าสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 4 กันยายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/9) ที่ระดับ 32.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (3/9) ที่ระดับ 32.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวานนี้ตลาดมีการซื้อขายเบาบางเนื่องจากเป็นวันหยุดของสหรัฐ เนื่องในวันแรงงาน อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ค่าเงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย จากความกังวลของนักลงทุนกับประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยสกุลเงินที่ได้รับแรงกดดันเป็นอย่างมากในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ เปโซของอาร์เจนตินา, ลีราของตุรกี, แรนด์ของแอฟริกาใต้, เรียลของบราซิล, รูเปียห์ของอินโดนีเซีย และรูปีของอินเดีย สำหรับประเด็นการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากสมาชิกในรัฐบาลต่อกรณีการผลักดันให้มีการทำข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่ เนื่องจากสมาชิกสภาคองเกรสต่างต้องการให้สหรัฐ รวมแคนาดาเข้าไว้ในข้อตกลงฉบับใหม่ ในขณะที่ทรัมป์ประกาศจุดยืนว่าหากไม่สามารถทำข้อตกลงที่เป็นธรรมสำหรับสหรัฐได้ ข้อตกลงระหว่างสหรัฐและแคนาดาจะไม่เกิดขึ้น พร้อมกับระบุว่า คองเกรสไม่ควรจะเข้ามาแทรกแซงการเจรจาต่อรอง หรือมิฉะนั้น ตนเองจะยกเลิกข้อตกลง NAFTA ทั้งหมด ขณะที่การเจรจาระหว่างสหรัฐและแคนาดายังไม่เปิดฉากขึ้นนั้น ทรัมป์ ก็เตรียมเดินหน้าตามแผนเรียกเก็บภาษีต่อ สินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่ในสัปดาห์นี้ โดยจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าของจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ตลาดจับตาดูตัวเลขภาคแรงงานของสหรัฐในวันศุกร์ (7/9) เพื่อดูทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.768-32.78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/9) ที่ระดับ 1.1604/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/9) ที่ระดับ 1.1602/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการค้าของตลาดโลก ขณะเดียวกันค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันจากความไม่มั่นใจของนักลงทุนเกี่ยวกับการถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป โดยสหราชอาณาจักรอาจถอนตัวจากสหภาพยุุโรปแบบไม่มีข้อตกลง ซึ่งจะส่งผลต่อการค้าของทั้งสอง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1560-1.1610 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1565/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/9) ที่ระดับ 111.01/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/9) ที่ 111.08/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเช้าวันนี้หนังสือพิมพ์นิกเกอิมีการรายงานว่า นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่น ประกาศที่จะเดินหน้าแผนการปรับขึ้นภาษีการขายตามกำหนดในปี 2019 โดยแผนดังกล่าวคือแผนการปรับขึ้นภาษีการขายจาก 8% สู่ 10% ในเดือน ต.ค. 2019 ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง เนื่องจากวิเคราะห์บางรายคาดการณ์ว่า การปรับขึ้นภาษีการขายในปี 2019 อาจจะสร้างความเสียหายต่อการบริโภคภาคครัวเรือนที่อยู่ในภาวะเปราะบางอยู่แล้ว ในขณะที่ภาคก่อสร้างอาจจะชะลอตัวลงในปีหน้า ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.03-111.55 เยน/ดอลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน ส.ค. จากมาร์กิตของสหรัฐ (4/9), ดัชนีราคาผุ้ผลิต (PPI) เดือน ก.ค. ของยูโรโซน (4/9), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน ส.ค.จากมาร์กิตของยูโรโซน (5/9), ดุลการค้าเดือน ก.ค.ของสหรัฐ (5/9), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ก.ค.ของเยอรมนี (6/9), ดุลการค้าเดือน ก.ค.ของเยอรมนี (7/9), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ของยูโรโซน (7/9), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ส.ค. ของสหรัฐ (7/9) และอัตราการว่างงานของสหรัฐ (7/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือน ในประเทศอยู่ที่ -3.25/-3.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.85/-2.15 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ