แบงก์ปล่อยกู้ “เอสเอ็มอีบัญชีเดียว”ไม่ปังอ้างกลัวภาษี

แบงก์รัฐ-เอกชนหนุน SMEs ยื่นกู้บัญชีเดียว เตรียมพร้อมรับมาตรการ ธปท.ปี”62 ธนาคารกรุงไทยเผยปล่อยกู้แล้ว 3 พันล้านบาท ฟากแบงก์กรุงเทพเผยคนยังกลัวถูกรีดภาษีเพิ่ม ด้าน 3 แบงก์รัฐเร่งสนองนโยบายดึง SMEs เข้าระบบ

นายปฏิเวช สันตะวานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จัดทำบัญชีเล่มเดียวเพื่อเตรียมพร้อมมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อโดยใช้บัญชีเล่มเดียวในปี 2562 นั้น ธนาคารมีโครงการสินเชื่อกรุงไทย SMEs บัญชีเดียว ซึ่งปี 2561 นี้ ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อไว้ที่ 6,000 ล้านบาท ล่าสุด ปล่อยสินเชื่อไปแล้วราว 3,000 ล้านบาท

มงคล ลีลาธรรม

“แบงก์ได้ส่งเสริมและให้ความรู้แก่ธุรกิจ SMEs เรื่องทำบัญชีเดียวมา 2 ปีแล้ว โดยช่วงแรกจะผ่อนเกณฑ์ให้ เช่น กรณีผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อแต่แสดงรายได้มาน้อย ซึ่งอาจจะไม่ผ่านอนุมัติ เราก็ให้เขาอาจนำรายได้อื่นนอกเหนือจากรายได้ในงบฯที่ยื่นสรรพากรมาแสดงได้ แต่ต้องนำหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือมาแสดง” นายปฏิเวชกล่าว

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษที่เป็นมาตรการจูงใจผู้ที่ทำบัญชีชุดเดียวซึ่งสมาคมธนาคารไทยได้จัดให้มีขึ้น โดยแบงก์ที่ร่วมโครงการจะคิดดอกเบี้ยคงที่ 5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปีนั้น มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแสดงความสนใจเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่มาก เนื่องจากยังกลัวเรื่องภาษีกันเป็นหลัก ซึ่งธนาคารก็ได้เดินสายให้ความรู้แก่ธุรกิจร่วมกับกรมสรรพากร

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารออมสิน กล่าวว่า โครงการสินเชื่อ GSB SMEs บัญชีเดี่ยว เปอร์เซ็นต์เดียวของธนาคารออมสิน ตั้งวงเงินสินเชื่อไว้ที่ 2,000 ล้านบาท ปัจจุบันอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 400 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน SMEs ประมาณ 70 ราย ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้สินเชื่อดังกล่าวน้อย เนื่องจากลูกค้ากังวลการที่จะต้องเสียภาษีมากขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารออมสินก็ได้เร่งประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทาง

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า ในส่วนของ ธพว. มีโครงการสินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 ซึ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่ในโครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดย่อม เพื่อลงทุน ขยาย ปรับปรุง พัฒนากิจการ ให้มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น โดยตั้งวงเงินไว้ทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาท ถึงปัจจุบันอนุมัติไปแล้ว 4,000 ล้านบาทคิดเป็นจำนวน SMEs ราว 1.4-1.5 หมื่นราย เฉลี่ยอนุมัติอยู่ที่ 6 แสนบาท/ราย

นอกจากนี้ ปัจจุบันมี SMEs อยู่ในกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่ออีกประมาณ 2,000 ล้านบาท และคาดว่าภายในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้ จะสามารถอนุมัติวงเงินสินเชื่อได้ครบตามเป้าหมาย 8,000 ล้านบาท

“เราไม่ได้แค่ให้สินเชื่ออย่างเดียว แต่เป็นการเติมทุนโดยให้ความรู้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในอนาคต รวมถึงเป็นการปรับเปลี่ยนยกระดับลูกค้ากลุ่มนี้ให้เขามีรายได้ และเพิ่มมูลค่าของสินค้า ซึ่งระยะหลังมีลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงและปรับปรุงจากบุคคลธรรมดามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมากขึ้น โดยสินเชื่อดังกล่าวถือเป็นแรงจูงใจให้ลูกค้าที่เข้าระบบหรือเสียภาษีอย่างถูกต้องจะได้รับการดูแลจากรัฐ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นแรงจูงใจ” นายมงคลกล่าว

นางวรรธนา มงคลศรี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวว่า ธสน.มีสินเชื่อส่งออกสุขใจ (Exim Happy Credit) ที่จูงใจผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำบัญชีเดียว โดยให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 5 แสนบาท/ราย ซึ่งนิติบุคคลที่ใช้บัญชีเดียว จะได้รับอัตราดอกเบี้ยในปีแรก 4.50% (นิติบุคคลทั่วไปคิด 5%) ปีที่ 2 คิดดอกเบี้ย prime rate -1.50% (นิติบุคคลทั่วไปคิด prime rate -1%) และปีที่ 3 เป็นต้นไปคิดอัตรา prime rate (ปัจจุบัน prime rate อยู่ที่ 6.25% ต่อปี)


ทั้งนี้ ธสน.ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อส่งออกสุขใจแก่ SMEs ให้ได้ 750 ราย ในปี 2561 นี้ โดยปัจจุบันได้รับอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 350 ราย