ขุนคลังชี้คล้ายวิกฤตต้มยำกุ้ง ศก.อินโดฯทรุดฉุดส่งออกไทย

ขุนคลังชี้วิกฤตค่าเงินตลาดเกิดใหม่ จุดเริ่มต้นคล้ายวิกฤต “ต้มยำกุ้ง”มีสิทธิ์ลามขยายวงฉุดเศรษฐกิจไปทั่วโลก ชี้สถานะการเงินไทยแข็งแกร่งเชื่อกระทบไม่มาก ดร.อมรเทพชี้หากอินโดนีเซียทรุด กระทบส่งออกไทยเต็ม ๆ โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสถานการณ์วิกฤตค่าเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ขณะนี้ว่า ประเทศไทยฐานะการคลังและฐานะเงินทุนต่างประเทศยังเข้มแข็งมาก ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ หลาย ๆ ประเทศค่าเงินอ่อนลง แต่ไทยกลับทรงตัวหรือแข็งค่าขึ้นด้วยบางครั้ง เพราะฉะนั้น ผลกระทบโดยตรงไม่น่าจะมี แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในตลาดโลกเป็นสิ่งซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกไม่ดี ซึ่งเริ่มต้นคล้าย ๆ วิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ของไทย ณ วันนั้น ที่ทั่วโลกมองว่าเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่หลังจากนั้นขยายวงกว้างไปทั่วโลก ซึ่งประเทศที่มีฐานการเงินที่ดี ณ ตอนนั้นก็ไม่กระทบ แต่ประเทศซึ่งมีฐานะไม่ดีก็มีการกระทบค่อนข้างมาก และก็กลายเป็นวงจรไปทั่วโลก

“เราเองก็คงไม่ถูกผลกระทบมาก ด้วยฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งจริง ๆ เราเตรียมการไว้พอสมควรอย่างเงินกู้ต่างประเทศที่ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 4% เท่านั้น ประกอบกับยังมีเงินทุนไหลเข้าด้วย”

อินโดฯทรุด-ฉุดส่งออกไทย

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากภาวะวิกฤตค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ สัญญาณที่น่าสนใจ คือ วิกฤตดังกล่าวเริ่มลามมาใกล้ไทย อย่างอินโดนีเซีย ทำให้นักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นกลัวสถานการณ์รุนแรงขึ้น จึงเทขายทั้งกระดานในตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ไทยได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะอยู่ในกลุ่ม TIP (ไทย-อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์) ดังนั้นถ้าผลกระทบมากขึ้น แรงเทขายในตลาดเกิดใหม่ยังมีอยู่

ขณะที่หากอินโดนีเซียขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินไหลออก หรือลดการใช้จ่ายภาครัฐ ก็จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว การนำเข้าก็จะลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อไทยในด้านการส่งออกที่อาจชะลอด้วย เพราะไทยส่งออกไปอินโดนีเซียถึง 4% ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนยานยนต์ นอกจากนี้ ภูมิภาคอาเซียนเชื่อมกันหมด เช่น สิงคโปร์มีสัดส่วนการส่งออกไปอินโดนีเซีย 8% ก็จะได้รับผลกระทบ และไทยที่พึ่งพาตลาดสิงคโปร์ก็โดนอีกต่อ

ดร.อมรเทพกล่าวว่า หากสถานการณ์รุนแรงลากเศรษฐกิจในภูมิภาคชะลอตัว ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในอาเซียนชะลอตัวตามไปด้วย และถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอ ตลาดเกิดใหม่คนยังกังวล เงินทุนก็ถูกดึงจากตลาดเกิดใหม่ไปประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะไปสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และต่างชาติยังมองไทยต่างจากประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เงินเลยไหลกลับมา

บาทแข็งส่งออกก็เจ็บ

“อย่างไรก็ตาม เราต้องตั้งคำถามว่าประเทศไทยอยากให้ค่าเงินบาทอ่อนหรือเปล่า เพราะถ้าค่าเงินบาทแข็ง ความสามารถในการส่งออกยิ่งหาย ปัญหาคือถึงแม้เพื่อนบ้านเป็นหวัด ไทยไม่เป็นหวัด แต่ก็อาจจะโชคร้ายเพราะค่าเงินบาทแข็ง ทำให้การส่งออกมีปัญหา” ดร.อเมรเทพกล่าว

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้ถูกมองเป็นคลาสเดียวกับอินโดนีเซีย ดังนั้น ไทยไม่น่าจะเป็นหวัดรอบนี้ เพราะประเทศไทยไม่ได้ขาดดุลทั้งการคลัง และบัญชีเดินสะพัดไทยเกินดุล 8% สิ่งที่กระทบกับไทยแน่ ๆ คือ ตลาดเกิดใหม่ เช่น อาร์เจนตินา อินโดนีเซีย เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งอาจเป็นผลให้ ธปท.เริ่มทบทวนการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ ตามภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

วิกฤตดังกล่าวอาจจะทำให้ค่าเงินบาทผันผวนได้บ้าง แต่ยังรับมือได้โดยให้กรอบ 32.50-33.00 บาท ถึงเฟดขึ้นดอกเบี้ย โดยเชื่อว่าไทยจะขึ้นตามตอนสิ้นปี และเนื่องจากเงินต่างชาติไหลเข้าไทยสุทธิ เพราะขนาดการท่องเที่ยวใหญ่มากกว่ามูลค่าซื้อขายพันธบัตรหรือหุ้นถึง 3 เท่า ดังนั้นถ้านักท่องเที่ยวจีนยังมา และส่งออกดีอยู่ ค่าเงินบาทจะยังแข็ง

“แต่ถ้าวิกฤตค่าเงินตลาดเกิดใหม่ลามไปประเทศอื่นที่ติดหวัดง่ายอีก ถ้าติดกันหมดก็จะดึงเศรษฐกิจโลกชะลอลง การค้าโลกชะลอ กระทบการส่งออกและท่องเที่ยวไทย เศรษฐกิจไทยที่ปีนี้เห็นที่ 4.8% ก็อาจชะลอตัวในปีหน้า”

เงินไหลเข้าบอนด์ 7.5 หมื่นล้าน

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ผลกระทบเงินไหลออกจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่กำลังกระแทกตลาดเป็นปัจจัยลบที่ต้องระวัง ขณะนี้กลุ่มประเทศทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ อาร์เจนตินา, ตุรกี, บราซิล, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ ที่กำลังถูกโจมตีค่าเงินหลังจากมีความเสี่ยงด้านฐานะทางการเงินสูง (higher risk zone) เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตแบบชะลอตัว ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแบบเรื้อรัง มีเงินเฟ้อระดับสูง และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ ขณะที่หนี้สินต่างประเทศค่อนข้างมาก จึงเป็นเป้าในการถูกโจมตี

สำหรับประเทศไทยถือว่าอยู่ในความเสี่ยงด้านฐานะทางการเงินต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกเติบโตสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 4.8% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้นเพียง 1.6% ซึ่งเป็นเงินเฟ้อที่มาจากราคาพลังงาน ทำให้แบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย และที่สำคัญ ไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงติดอันดับ 11 ของโลก ขณะที่สัดส่วนหนี้สินต่างประเทศไม่เกิน 30% และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง จากกระแสเงินไหลออกจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในครึ่งปีหลังกระทบมาถึงประเทศไทยค่อนข้างน้อย และคาดว่าปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศน่าจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนตลาดให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดีกว่าปัจจัยต่างประเทศ

“ประเทศอื่นในภูมิภาคกำลังพยายามพาเหรดปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ไทยมีสถานะเศรษฐกิจแข็งแกร่ง จึงมีเอกภาพในการตัดสินใจ และเงินบาทไทยกำลังถูกมองว่าเป็น safe haven ทำให้ตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.-4 ก.ย. 61 มีเงินไหลเข้าตราสารหนี้กว่า 7.5 หมื่นล้านบาท” นายประกิตกล่าว

แหล่งข่าว บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อยที่ระดับ 2% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ขณะที่อินโดนีเซียค่าเงินอ่อนค่าไปเกือบ 5.3% และฟิลิปปินส์อ่อนลง 6.7% และค่าเงินอินเดียที่อ่อนค่า 7% โดยค่าเงินในกลุ่ม TIP อ่อนค่าแรงกว่าค่าเงินบาทของไทย

เนื่องจากสถานะการเงินของไทยแข็งแกร่ง โดยปัจจุบันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในอันดับต้น ๆ ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา คือ อยู่ที่ 2.49 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อินโดนีเซียมีอยู่แค่ 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และมาเลเซียมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่แค่ 1.04 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ฟิลิปปินส์มีอยู่ประมาณ 8.14 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

อีกปัจจัยที่ทำให้เม็ดเงินไม่ได้ไหลออกมาก คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นบวกกว่า 10.8% ตั้งแต่ต้นปี เทียบกับในกลุ่ม TIP อย่างฟิลิปปินส์บวกแค่ 0.4% และอินโดนีเซียติดลบ -1.7%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ปัจจัยที่ทั่วโลกจับตาคือ การที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนรอบ 3 อีก 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ให้มีผลวันที่ 7 กันยายน ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า สงครามการค้าโลก จะทำให้จีดีพีโลกหดตัว 0.4% ในปี 2019