ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากความขัดแย้งทางการเมืองในอิรัก-ซีเรียร้อนแรงต่อเนื่อง

+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของอิรักและซีเรียร้อนแรงขึ้น ทางด้านอิรักเกิดการประท้วงขึ้นในทางตอนใต้ที่เมือง Basra โดยผู้ก่อการประท้วงได้เข้ายึดพื้นที่แหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบของ Lukoil ที่มีกำลังการผลิต 400,00 บาร์เรลต่อวัน รวมถึงได้เข้าจับพนักงานเป็นตัวประกันอีก 2 คน ขณะที่สงครามกลางเมืองของซีเรียยังคงถูกคุกคามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

+/- ขณะที่ราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสได้ปรับตัวลดลงเล็กน้อย หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากพายุโซนร้อน Gordon ได้พัดเข้าใกล้กับชายฝั่งของ Gulf of Mexico ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินการผลิตของแหล่งน้ำมันดิบและโรงกลั่นน้ำมันในระแวกนั้น อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แข็งค่าขึ้น จากการประกาศตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงขึ้นเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กดดันราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสลง

– ปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยน้ำมันเบนซินคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดีเซลคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 3.1 ล้านบาร์เรล

+ Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ ณ วันที่ 7 ก.ย. 61 ปรับลดลง 2 แท่น มาสู่ระดับ 860 แท่น

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างก็ตาม ราคาน้ำมับเบนซินยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ของอินโดนีเซีย และอุปทานที่ตรึงตัวจากทางด้านอ่าวเปอร์เซีย

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากน้ำมันดีเซลคงคลังในสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน ที่ 11.4 ล้านบาร์เรล

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 64-69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 74-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง

สำนักข่าว Reuters เผยปริมาณการส่งน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน ส.ค. 61 ลดลงมาแตะระดับ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับสูงสุดที่ 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังได้เผชิญหน้ากับการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ซึ่งกำกับให้ทุกประเทศหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านนับตั้งแต่ 4 พ.ย. 61 นี้เป็นต้นไป

ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากท่าเรือขนส่งน้ำมันหลักของประเทศได้มีการหยุดดำเนินการลง หลังเกิดเหตุเรือขนส่งน้ำมันดิบชนกัน

จับตาการการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกในเดือน ก.ย. ว่าจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นเพื่อชดเชยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านที่หายไปหรือไม่