วิกฤตค่าเงิน กับโอกาสการลงทุน

คอลัมน์ เติมความคิดพิชิตการลงทุน

โดย พรเทพ ชูพันธุ์ บล.ไทยพาณิชย์

หลายวันที่ผ่านมา นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets หรือ EM) ที่กำลังเผชิญวิกฤตค่าเงิน (currency crisis) โดยค่าเงินในหลายประเทศอ่อนค่าลงอย่างมาก นำโดยตุรกีและอาร์เจนตินา และเริ่มลามมายังประเทศ EM ในภูมิภาคแถบบ้านเรา ซึ่ง บล.ไทยพาณิชย์ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยตามปัจจัยพื้นฐาน แต่ก็แนะนำให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากในภาวะวิกฤตอาจเกิดการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงแบบไม่สนปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งก่อให้เกิดความผันผวนแต่ก็เป็นโอกาสลงทุน

ปกติวิกฤตค่าเงินมักมีบ่อเกิดจากความอ่อนแอหลายด้าน เช่น

1) การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ซึ่งดุลบัญชีเดินสะพัดเปรียบเหมือนบัญชีน้ำพักน้ำแรง เพราะมีส่วนประกอบหลัก เช่น ดุลการค้า ดุลบริการ และการส่งกลับผลประโยชน์จากการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของคนในประเทศ จึงสะท้อนถึงการออมในประเทศด้วย ประเทศไหนที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาก แปลว่าการออมในประเทศต่ำ ต้องพึ่งพาเม็ดเงินกู้ยืมจากต่างประเทศ

2) การขาดดุลการคลังมาก รัฐมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ต้องกู้ยืมเงิน ซึ่งปกติการขาดดุลการคลังเล็กน้อยไม่ใช่เรื่องใหญ่ โดยเฉพาะถ้าเป็นการขาดดุลการคลังเพื่อนำไปลงทุนเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในอนาคต แต่หากเป็นการขาดดุลการคลังที่นำเงินไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แม้จะสร้างคะแนนนิยมเห็นผลเศรษฐกิจโตทันใจ แต่ก็เป็นภาระในระยะยาว

3) หนี้สินนอกประเทศจำนวนมาก อาจเกิดจากภาครัฐ (มีข้อ 1+2 รวมกันจะเรียกว่า twin deficits) ต้องกู้ยืมจากนอกประเทศเพราะไม่มีการออมในประเทศรองรับ หรืออาจเกิดจากภาคเอกชนที่เห็นอัตราดอกเบี้ยในประเทศสูงกว่าดอกเบี้ยนอกประเทศ เลยไปกู้เงินต่างประเทศ ซึ่งหากนำเงินมาลงทุนสร้างผลตอบแทนในอนาคตก็อาจพออยู่รอดได้ แต่หากกู้มาลงทุนสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพค่าเงินได้

4) ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไม่เพียงพอ รองรับความจำเป็นในอนาคต เช่น หนี้นอกสูงกว่าทุนสำรอง ยิ่งมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดร่วมด้วย จะทำให้ทุนสำรองหมดไปอย่างรวดเร็ว หากหาแหล่งเงินกู้ใหม่ไม่ได้ก็เกิดปัญหา

เรามองว่าปัญหาวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยนในตุรกี อาร์เจนตินา สาเหตุหลักมาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการขาดดุลการคลัง (twin deficits) พึ่งพาเงินกู้นอกประเทศมาหลายปี ดังนั้นพอเฟดขึ้นดอกเบี้ย ECB ลดการอัดฉีด QE ก็ทำให้สภาพคล่องเงินตราต่างประเทศหดหาย ประกอบกับทุนสำรองก็น้อย รองรับหนี้นอกระยะสั้นกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้เพียงครึ่งปีเท่านั้น นักลงทุนต่างชาติจึงแห่กันเอาเงินออก เกิดเป็นวิกฤตที่แก้ยาก เพราะหากขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงดูดเงินกลับก็จะทำให้เศรษฐกิจหดตัว หากปล่อยให้ค่าเงินอ่อนก็จะทำให้เงินเฟ้อพุ่งบวกกับบริษัทที่กู้เงินนอกจะหนี้พุ่งล้มละลาย กลายเป็นวิกฤตแบบต้มยำกุ้ง 2540 ในที่สุด

ประเทศไทยพื้นฐานแกร่ง ตลอดปีครึ่งที่ผ่านมาไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 10% ของ GDP นับว่าแกร่งเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงกว่าหนี้นอกระยะสั้นถึง 3.5 เท่า การขาดดุลการคลังก็น้อย โอกาสผิดนัดชำระหนี้นอกของไทยต่ำมาก โอกาสถูกโจมตีค่าเงินจึงน้อยมาก ไทยกลายเป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดประเทศหนึ่งในบรรดา EM ซึ่งสำนักข่าว Bloomberg ได้ออกรายงานเรื่องนี้เมื่อไม่กี่วันก่อน ว่าประเทศไทยผู้เคยเป็นจุดเริ่มต้นของ Asian crisis เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนนี้กลายเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุดที่หนึ่งไปแล้ว

สำหรับนักลงทุนหากดูจากปัจจัยพื้นฐาน เช่น ราคาหุ้นปรับลดลงมาราว 3-4% ตั้งแต่ต้นปี สวนทางกับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนครึ่งปีแรกที่ +7.6% YOY สอดคล้องกับ GDP ครึ่งปีแรกที่โต 4.8% (ดีที่สุดในรอบ 5 ปี) การออมในประเทศก็สูง เม็ดเงินไหลเข้ากองทุนรวมต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนสถาบันในประเทศมีสัดส่วนมากขึ้น ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาด ภาพรวมตลาดหุ้นบ้านเรามีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ดังนั้น ความผันผวนจากปัจจัยภายนอกจึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่จะเข้าลงทุนหุ้นพื้นฐานดีราคาถูก โดยเฉพาะหากการขายเกิดจากนักลงทุนต่างชาติที่ลดสัดส่วนการลงทุนใน EM ทั้งภูมิภาค ซึ่งเป็นการสั่งขายแบบสาด ก็อาจทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานได้


ซึ่ง บล.ไทยพาณิชย์ เลือกหุ้นเด่นเดือน ก.ย.ไว้ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมตามธีมวัฏจักรการลงทุนของไทยและ EEC (AMATA, WHA) กลุ่มสื่อนอกบ้านที่จะเติบโตตามการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ (PLANB) และกลุ่มอาหารตามการฟื้นตัวของราคาไก่ที่เริ่มสูงกว่าจุดคุ้มทุน และจะเริ่มทำกำไรได้ดีในระยะต่อไป (CPF, GFPT)