ประกันวินาศภัยฟันธงเบี้ยโต 5% อานิสงส์ยอดขายรถยนต์ทะลุเป้า 9 แสนคัน

บิ๊กประกันประเมินเบี้ยรับรวมประกันวินาศภัยปี’61 โต 5% ชี้ประกันมอเตอร์สดใสไปโลดรับอานิสงส์ “มอเตอร์เอ็กซ์โป-ยอดขายรถใหม่ทะลุเป้า 9 แสนคัน” ฟากน็อนมอเตอร์แข่งเดือดตัดราคาเบี้ย IAR ขนาดใหญ่ ด้านขุนคลังจี้ธุรกิจประกันหนุนประกันภัยต่อในประเทศ ยกระดับไทยเป็นฮับภูมิภาค

นายอานนท์ วังวสุ ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2561 คาดว่าจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน โดยตลาดประกันรถยนต์ (มอเตอร์) มีโอกาสเติบโตที่ระดับ 5% ตามยอดขายรถใหม่ที่เติบโตมากขึ้นเกือบ 20% ซึ่งในช่วงไตรมาส 4 ที่จะถึงนี้ ยังจะได้รับอานิสงส์จากการจัดงาน Motor Expo อีกด้วย ส่วนประกันภัยที่ไม่ใช่รถ (น็อนมอเตอร์) การเติบโตอาจจะไม่ถึง 5% แม้ว่าจะได้รับแรงหนุนจากส่งออกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง

อานนท์ วังวสุ

“การแข่งขันยังรุนแรง โดยเฉพาะตลาดประกันภัยทรัพย์สิน (IAR) ขนาดใหญ่ ที่มีการดัมพ์ราคาลงไปต่ำมากและยังไม่มีท่าทีจะปรับขึ้น ยกเว้นประกันภัยทรัพย์สินบางประเภทที่อัตราเบี้ยประกันเริ่มขยับตัวดีขึ้นบ้าง เช่น คอนโดมิเนียม หลังได้รับความเสียหายจากภัยที่เกิดจากน้ำค่อนข้างมาก ส่งผลให้บริษัทที่เสนอเบี้ยราคาถูกเสี่ยงขาดทุน อย่างไรก็ดี หากนับรวมเบี้ยประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลและสุขภาพที่คาดว่าจะเติบโตระดับ 7% ในสิ้นปีนี้ อาจจะหนุนให้เบี้ยน็อนมอเตอร์ภาพรวมโตเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงที่ระดับ 5% ได้” นายอานนท์กล่าว

นายอานนท์กล่าวว่า ส่วนประกันรถยนต์อาจจะไม่ได้แข่งขันดุเดือดนัก เพราะผู้รับประกันที่ดัมพ์ราคาลงไปมาก ๆ ต่างเห็นผลจากการขาดทุนที่สะท้อนออกมาแล้ว ประกอบกับค่าซ่อม ค่าอะไหล่ และค่าชดเชยบุคคลที่สาม (third-party) ที่มีความเสียหายเกี่ยวเนื่องตามมาค่อนข้างมาก ส่งผลให้ค่าสินไหมเพิ่มขึ้น จนทำให้อัตราการเคลมในภาพรวมอยู่สูงถึง 65% ซึ่งปกติไม่ควรเกินระดับ 62-63%

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงปลายปีนี้ หากโครงการลงทุนของรัฐเกิดขึ้น น่าจะช่วยหนุนให้ภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยเติบโตที่ 5% ได้ ประกอบกับแนวโน้มภาคส่งออกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8% และแรงส่งจากยอดขายรถป้ายแดงที่คาดว่าจะทะลุเป้าเกิน 900,000 คัน โดยน่าจะถึง 980,000 คัน หรือ เพิ่มขึ้น 12.4% จากปีก่อน เนื่องจากเป็นวัฏจักรที่ทุก ๆ 3-5 ปี ผู้บริโภคจะมีการเปลี่ยนรถ ประกอบกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำ ทำให้แบงก์ต้องเริ่มมองหาผู้กู้ใหม่

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีเบี้ยรายใหม่เข้าสู่ระบบมากกว่า 15,000 ล้านบาท ตามยอดขายรถใหม่ที่มีการทำประกัน ส่วนกรมธรรม์ต่ออายุสัดส่วนกว่า 90% ในธุรกิจประกันรถยนต์ จะหนุนให้เบี้ยประกันรถยนต์เติบโตได้ในระดับ 6-7%

ส่วนเบี้ยรับรวมประกันวินาศภัยช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย. 61) ประกันรถยนต์เติบโต 8% จากปีก่อน แยกเป็นประกันรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) เพิ่มขึ้น 3.37% และประกันรถยนต์ภาคสมัครใจโต 8.75% ส่วนน็อนมอเตอร์ เติบโตอยู่แค่ 1.3% เท่านั้น

“ส่วนปี 2562 ภาพรวมการแข่งขันอาจจะไม่ดุเดือดแล้ว เพราะผลจากการรับประกันได้สะท้อนต้นทุนออกมาให้เห็นชัดเจน ซึ่งคาดรูปแบบการแข่งขันจะเน้นการให้บริการและออกโปรดักต์ใหม่ ๆ มากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยี (อินชัวร์เทค) จะเข้ามามีผลต่อการขายประกัน ทำให้บริษัทประกันต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาแข่งขันมากขึ้น ก็จะเห็นการแข่งขันด้านบริการมากกว่าด้านราคา” นายอานนท์กล่าว

ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวในการเปิดงาน “สัปดาห์ประกันภัย” ประจำปี 2561 ว่า อยากให้สำนักงาน คปภ. ไปพิจารณาแผนแม่บทการประกันภัยให้สอดรับกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศที่ใน 4-5 ปีข้างหน้าจะมีเม็ดเงินถึง 3 ล้านล้านบาท บวกกับการลงทุนเอกชนอีกนับล้านล้านบาท ซึ่งเอกชนต้องร่วมมือกับ คปภ.ในการออกแบบแผนแม่บทว่าจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางประกันภัยของภูมิภาคได้หรือไม่ โดยเฉพาะการผลักดันให้มีการรับประกันต่อภายในประเทศ