ออมสินปลื้มผลงานเสือคืนถิ่นสิงห์คืนถ้ำ หลังร่วมมือสานพลังมหาวิทยาลัย-ชุมชน พัฒนาศก.ฐานราก

ธนาคารออมสินเผยผลสำเร็จความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศและชุมชน ในการร่วมคิดร่วมทำนำวิทยาการสมัยใหม่ไปผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นผลักดันให้ประชาชนเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองพัฒนาอาชีพอยู่ตลอดเวลา ยกระดับการบูรณาการความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นให้ก้าวทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงผ่านโครงการสำคัญ 3 โครงการ คือ ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยประชาชน และ GSB Startup Academy

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารออมสินได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจในระดับชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยเศรษฐกิจหลักของระบบเศรษฐกิจ ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพประชาชนฐานราก ยกระดับให้ประชาชนก้าวพ้นจากความยากจนภายใต้แนวทาง 3 สร้าง เพื่อให้เกิดผลการพัฒนามีความยั่งยืน ได้แก่ สร้างความรู้/อาชีพ สร้างตลาด/รายได้ และสร้างประวัติทางการเงิน แนวทางแรก การสร้างความรู้/อาชีพ ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โครงการมหาวิทยาลัยประชาชน และ การส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการใหม่ แนวทางที่ 2 การสร้างตลาด/รายได้ธนาคารได้ดำเนินการส่งเสริมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเอกชนเพื่อส่งเสริม และยกระดับพื้นที่ค้าขายทั้งตลาดสด การค้าริมทางในจุดผ่อนผันรวมทั้งเริ่มพัฒนาตลาดสินค้า Online รวมทั้งเพิ่มบริการทางการเงินเพื่อให้ผู้ค้าได้เข้าถึงแหล่งทุนในการหมุนเวียนในกิจการ หรือลงทุนเพิ่ม ซึ่งมีทั้งสินเชื่อ Street Food และสินเชื่อโฮมสเตย์ ส่วนแนวทางที่ 3 เป็นการสร้างประวัติทางการเงินและการส่งเสริมการออม โดยการออก QR Code ให้ผู้ค้าได้ใช้ในการรับเงินจากผู้บริโภคเข้าบัญชีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้มีทั้งเงินออมและเริ่มมีประวัติทางการเงินกับธนาคาร

โดยกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น ธนาคารได้มีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 69 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เน้นการส่งเสริมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจระดับชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง มีความมั่นคง ตามแนวทาง“สานพลังประชารัฐ” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อฝึกอบรมอาชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน เพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษา สร้างภาวะความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษา ผ่านโครงการ GSB Startup Academy และ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โดยการให้นักศึกษาเข้าร่วมพัฒนาวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่ม OTOP ด้วยการนำความรู้สมัยใหม่ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ชุมชน นำความรู้ไปพัฒนาบ้านเกิด “เสือคืนถิ่นสิงห์คืนถ้ำ” ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาและสร้างรายได้สร้างอาชีพให้แก่สมาชิกชุมชน

และเพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงได้จัดงาน “ส่งมอบกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นและการนำเสนอแนวทางการทำงานร่วมกัน โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โครงการมหาวิทยาลัยประชาชน และโครงการ GSB Startup Academy”ขึ้น เพื่อรับทราบนโยบาย แนวทางความร่วมมือระหว่างธนาคารออมสินกับสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานภาคี รวมถึงการรับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ อันนำไปสู่การเสริมสร้างความรู้ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ความยั่งยืนของชุมชน นำไปสู่การดำเนินงานให้บรรลุผลตามเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งมีผู้บริหาร/คณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 69 แห่ง รวม 280 คน เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียนการดำเนินงานของปี 2561 ให้เป็นแนวทางการดำเนินงานในปี 2562

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานในปี 2561 โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือกับ 16 สถาบันอุดมศึกษา มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับฐานราก ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนที่กระจายอยู่ในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ บูรณาการภูมิปัญญาและวิทยาการสมัยใหม่ของสถาบันอุดมศึกษากับภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อสร้างกระบวนการเสริมสร้างและยกระดับขีดความสามารถในการประกอบการของกลุ่มองค์กรชุมชนให้มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นการเสริมความมั่นคงในอาชีพและรายได้ การมีวินัยทางการเงินและศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น พบว่า มีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 1,150 คน กลุ่มองค์กรชุมชน จำนวน 105 กลุ่ม มีสมาชิกชุมชน จำนวน 950 คน และ มีผู้รับประโยชน์ จำนวน 3,150 ครัวเรือน ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ

ส่วน โครงการมหาวิทยาลัยประชาชน เป็นโครงการที่ธนาคารออมสิน ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยราชภัฏ ร่วมกันแก้ไขปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยการฝึกอบรมอาชีพและการศึกษา ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใต้หลัก 3 สร้าง คือ (1) สร้างอาชีพ (2) สร้างรายได้ และ (3) สร้างประวัติทางการเงิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับการพัฒนาตนเอง มีอาชีพทำกินมีรายได้ สามารถเข้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ซึ่งเปรียบเสมือนการติดอาวุธ ให้เครื่องมือแก่ผู้มีรายได้น้อยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง และโครงการ GSB Startup Academy เป็นความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา พันธมิตรเครือข่าย เพื่อพัฒนาน้องๆ นิสิตนักศึกษา ให้มีแนวคิดทางด้านธุรกิจ สู่ผู้ประกอบการ Startup และ SMEs ในอนาคต ผ่านโครงการ GSB Startup Academy ซึ่งเป็นโครงการที่บูรณาการการร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษา,กลุ่มผู้ประกอบการ และธนาคารออมสินในการส่งเสริมสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษา เป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งมีโครงการย่อย 2 โครงการ ได้แก่ GSB Innovation Club และ GSB Startup University Model ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนการพัฒนา Prototype หรือ Product จาก Idea ที่น้องๆ คิดขึ้น ให้เป็นตัวสินค้าหรือสินค้าต้นแบบที่จะนำไปต่อยอดในการทำธุรกิจได้จริง โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 20 แห่ง

ในวันนี้เป็นการส่งมอบงาน“ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” กิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ปี 2561 เหมือนเป็นการส่งการบ้านครู หลังจากที่ครูให้การบ้านไปก็มีการส่งการบ้านเพื่อรายงานความคืบหน้าและนำเสนอแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในปีต่อไป นอกจากนี้สถาบันอุดมศึกษายังได้มีการนำผลิตภัณฑ์/บริการ จำนวน 105 ผลิตภัณฑ์ มาจัดแสดงและจำหน่าย พร้อมกับบูธนิทรรศการของหน่วยงานภาคี ประกอบด้วย กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และ สมาคมเพื่อนชุมชนอีกด้วย” นายชาติชายกล่าวในที่สุด