“ชาติชาย” ชูแผนพัฒนาแบงก์ออมสินสู่ “ธนาคารเพื่อสังคม-ธนาคารดิจิทัล” หลังได้ต่อวาระดำรงตำแหน่งอีกปีครึ่ง

“ชาติชาย” ชูแผนพัฒนาแบงก์ออมสินสู่ “ธนาคารเพื่อสังคม-ธนาคารดิจิทัล” หลังได้ต่อวาระดำรงตำแหน่งอีกปีครึ่ง ล่าสุด เตรียมเปิดให้บริการ “อีมาร์เก็ตเพลส” ร่วมกับพันธมิตร หวังเป็นช่องทางขายสินค้าชุมชน

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมของธนาคารออมสินได้มีมติอนุมัติในการต่อสัญญาจ้างเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสินต่ออีก 1 สมัย โดยมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.2562 -14 มิ.ย. 2563 หลังจากที่ใกล้จะครบวาระ 4 ปี ในช่วงเดือน ม.ค.2562 ทางออมสินเตรียมพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ระยะเวลา 5 ปี หลังจากช่วง 4 ปีครึ่งที่ผ่านมายังมีการพัฒนาทางด้านยุทธศาสตร์ไม่มาก

สำหรับการพัฒนารูปแบบธนาคารออมสินในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 ธนาคารย่อย ซึ่งอยู่ภายใต้ธนาคารออมสินเพียงธนาคารเดียว ประกอบด้วย 1.ธนาคารทั่วไป ซึ่งเป็นธนาคารที่มีการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบทั่วไป เช่น การฝากเงิน ถอนเงิน การปล่อยกู้ ฯลฯ โดยเป็นการพัฒนาเรื่องการเพิ่มความสะดวกสบายด้านการบริการแก่ลูกค้าให้มากขึ้น 2.ธนาคารดิจิทัล (Digital Bank) ซึ่งเป็นธนาคารที่สามารถรองรับลูกค้าที่ต้องการเปิดบัญชีสามารถดำเนินการเปิดบัญชีผ่านระบบได้โดยไม่ต้องดำเนินการที่ธนาคารแต่ละสาขาโดยตรง รวมถึงเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้กับออมสิน โดยนำพนักงานที่บริการตามธนาคารสาขาต่างๆ เข้ามาช่วยดูแลในกลุ่มนี้ ซึ่งจะทำให้ออมสินมีเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ทันสมัยมากขึ้นเพื่อสอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และ 3.ธนาคารเพื่อสังคม(Social Bank) ซึ่งเป็นธนาคารที่มุ่งเน้นการเป็นธนาคารเพื่อสังคม โดยออมสินจะนำพนักงานที่มีอยู่มาช่วยดูแลและช่วยเหลือภาคประชาชน เช่น กลุ่มชุมชน ผู้สูงวัย เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส ประชาชนระดับฐานราก หนี้นอกระบบ ที่ต้องการความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ทางออมสินร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเตรียมพัฒนาระบบบริการด้านเว็บไซต์สื่อกลางการติดต่อซื้อ-ขาย (E-Market Place) ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบขั้นสุดท้าย หลังจากนั้นจะมีการขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเปิดใช้ระบบบริการดังกล่าว โดยเบื้องต้นเป็นระบบบริการที่มีรูปแบบการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) และเว็บไซต์สื่อกลางการติดต่อซื้อ-ขาย (E-Market Place) โดยกระบวนการของระบบดังกล่าวเป็นการนำสินค้าภายในชุมชนมาขายผ่านระบบ E-Market Place ของออมสินสามารถสั่งซื้อสินค้าแลบริการจากผู้ขายส่งได้ เช่น เทสโก้ โลตัส บริษัทสยามแม็คโคร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ชุมชนและร้านค้าที่ใช้ระบบบริการนี้สามารถแข่งขันกับร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-eleven ซึ่งมีสินค้าทุกประเภทเพื่อเปิดตลาดในระบบดังกล่าว ราว 1,000-10,000 รายการ คาดว่าระบบบริการดังกล่าวสามารถเปิดใช้บริการได้ในช่วงไตรมาส4 ของปีนี้

“ระบบบริการนี้ไม่ได้มีการใช้งบประมาณเข้ามาช่วย เนื่องจากฝ่ายพันธมิตรเป็นผู้พัฒนาระบบขึ้นมา ซึ่งเขาจะได้ประโยชน์ในลักษณะการเป็นตัวแทนทางการค้าโดยผ่านธนาคารของเรา รวมถึงได้ประโยชน์จากค่าธรรมเนียมในการวางขายสินค้าบนระบบ ในส่วนของออมสินจะได้ประโยชน์จากค่าบริการในการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงค่าธรรมเนียมจากการนำร้านค้าในชุมชนมาขายผ่านระบบ ถือว่าความร่วมมือในครั้งนี้ได้สิทธิประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย” นายชาติชายกล่าว