ค่าเงินบาทแข็งค่า หลังเงินทุนไหลเข้า หวังได้เลือกตั้ง ก.พ. 2562

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/9) ที่ระดับ 32.53/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (11/9) ที่ระดับ 32.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ได้ปรับตัวอ่อนค่าลงเนื่องจากนักลงทุนได้เทขายดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากได้คลายความกังวลจากสถานการณ์ข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน หลังจากนายแลร์รี คุดโลว์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาวได้เปิดเผยกับสำนักข่าวต่างประเทศว่า นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้ส่งจดหมายไปยังเจ้าหน้าที่ของจีน เพื่อเชิญให้เข้าร่วมการเจรจาการค้าครั้งใหม่ เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งด้านการค้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดถึงสถานที่และกำหนดหมายในการเจรจาดังกล่าว อีกทั้งดอลลาร์สหรัฐยังถูกกดดันหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้เปิดเผยเมื่อคืนที่ผ่านมา โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนสิงหาคมออกมาลดลง 0.1% ซึ่งการปรับตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจทั้ง 12 เขต หรือ “Beige Book” โดยในรายงานได้ระบุว่าเศรษฐกิจภาพรวมของสหรัฐนั้นกำลังขยายตัวในระดับปานกลาง ขณะที่ภาคธุรกิจยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะใกล้ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้า หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้ากับประเทศคู่ค้าหลาย ๆ ประเทศที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทั่วสหรัฐนั้นปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นโดยได้รับปัจจัยหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้าทั้งในตลาดทุนและตลาดพันธบัตรของไทย หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมาได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งส่งผลทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในสถานการณ์ทางการเมืองของไทยและคาดว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.55-32.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (13/9) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1641/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (12/9) ที่ระดับ 1.1594/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งนักลงทุนยังคงจับตารอดูผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะเสร็จสิ้นในคืนนี้ โดยนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า ECB จะยังตรึงนโยบายการเงินไว้เช่นเดิม แต่อาจจะมีการส่งสัญญาณการยุติมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรหรือการยุติ QE ในช่วงสิ้นปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน ณ ปัจจุบันนั้นปรับตัวสูงขึ้นและอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนก็ขยายตัวอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1606-1.1642 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1613/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (13/9) เปิดตลาดที่ระดับ 111.41/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (12/9) ที่ระดับ 111.46/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการเปิดเผย ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานประจำเดือนกรกฎาคม เพิ่มสูงขึ้น 11% จากเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน หลังจากที่ลดลง 8.8% ในเดือนมิถุนายน และลดลง 3.7% ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.14-111.51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.49/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางยุโรป (13/9) ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ (13/9) แถลงการณ์ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา (13/9) ยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคม (14/9) และประมวลการดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (14/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.9/-2.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.5/-3.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ