ตัวแทนประกันโอดภาษีแพง วอนสรรพากรหัก “เหมาจ่าย”

นายก “THAIFA” คนใหม่เดินหน้าแก้ปมภาษีตัวแทนประกันชีวิต เตรียมหอบเอกสาร-งานวิจัยถกสรรพากรขอหักภาษีแบบ “เหมาจ่าย” หลังดีดลูกคิดคำนวณตัวแทนประกันชีวิตไทยเสียภาษีรวมเบ็ดเสร็จ 42% ชี้สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน หวั่นบุคลากรคุณภาพไหลออกจากธุรกิจ

นางบงกช บวรฤกษ์ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน (THAIFA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากเข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมฯคนใหม่ตั้งแต่เดือน มี.ค.

ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงวาระดำรงตำแหน่ง ปี 2560-2562 ตนมีแผนผลักดันให้มีการแก้ไขเรื่องกฎเกณฑ์โครงสร้างภาษีตัวแทนประกันชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยผลักดันกันมาตั้งแต่สมัย

นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ เป็นนายกสมาคมฯ โดยขณะนี้ได้เร่งหารือกับบริษัทประกันชีวิตทุกบริษัท และคาดหลังวันที่ 11 ส.ค. 60 นี้ จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อเตรียมการไปหารือกับกรมสรรพากร

“จะเข้าไปคุยกับกรมสรรพากร เพื่อผลักดันให้ปรับย้ายการยื่นแบบแสดงรายได้ของตัวแทนประกันชีวิตทุกคนให้เป็นไปตามมาตรา 40 (8) โดยเสนอให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 30% เหมือนอาชีพอิสระอื่น ๆ เช่น นักบัญชี ทนายความ และให้เจ้าของสำนักงานสามารถหักลดหย่อนได้ตามค่าใช้จ่ายจริง” นางบงกชกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันตัวแทนประกันชีวิต ต้องยื่นแบบแสดงรายได้ตามมาตรา 40 (2) ซึ่งเป็นหมวดเดียวกับรายได้จากค่าธรรมเนียม หรือเบี้ยประชุม ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้เท่ากับมนุษย์เงินเดือน ตามมาตรา 40 (1) ซึ่งหักค่าใช้จ่ายได้ 40% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท จึงถือว่าอาชีพตัวแทนประกันชีวิตมีค่าใช้จ่ายในการทำงานค่อนข้างสูง

“ค่าใช้จ่ายของเรามีทั้งค่าน้ำมัน ค่าอาหาร ค่ากระเช้าของเยี่ยม ค่าบริการรับรอง ค่าอุปกรณ์มือถือ และค่าใช้จ่ายในการอบรมหลักสูตรการเงินขั้นต่ำก็ 30,000 บาทแล้ว หากต้องการขายลูกค้ารายใหญ่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะยิ่งแปรผันสูงตามไปด้วย การที่หักค่าใช้จ่ายลักษณะนี้ จึงถือว่ายังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง” นางบงกชกล่าว

นางบงกชกล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีอัตราภาษีสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 25% ขณะที่โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยสูงสุดอยู่ที่ 35% นอกจากนี้ ตัวแทนประกันชีวิตที่มีรายได้สุทธิก่อนหักค่าใช้จ่ายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ยังมีภาระต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีก 7% ทำให้รวม ๆ

แล้วต้องเสียภาษีกว่า 42% ถือว่าสูงสุดในอาเซียน ซึ่งตรงนี้ทางสมาคมตัวแทนฯมองว่า สินค้าประกันชีวิตเป็นสินค้าวางแผนทางการเงิน ไม่ใช่สินค้าบริการ จึงไม่ควรคิด VAT หรือไม่เช่นนั้นก็ให้บริษัทประกันชีวิตหรือผู้บริโภคร่วมรับภาระด้วย

“ปัญหาเหล่านี้ทำให้ตัวแทนประกันชีวิตจำนวนไม่น้อยที่ทำงานไปได้ระยะหนึ่ง แล้วมีรายได้สูงขึ้น เริ่มมีความรู้สึกต้องแบกรับภาระภาษีเพิ่มขึ้น และยังถูกเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อน จึงตัดสินใจเดินออกจากอาชีพ เพียงเพราะเจอปัญหาโครงสร้างทางภาษีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม” นางบงกชกล่าว

นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ ที่ปรึกษาสมาคมตัวแทนฯ และอดีตนายกสมาคมตัวแทนฯ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเทศในอาเซียนมีการให้หักค่าใช้จ่ายภาษีได้มากกว่าประเทศไทย อย่างเช่น ประเทศอินโดนีเซีย ที่ให้ตัวแทนประกันชีวิตที่เป็นผู้ประกอบการ สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้กว่า 50% ของค่าใช้จ่ายรวม เป็นต้น ดังนั้นจึงอยากให้ตัวแทนประกันชีวิตของไทยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เทียบเท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ ทางสมาคมตัวแทนประกันฯจะนำเอกสารและผลการวิจัยไปเสนอกรมสรรพากรเร็ว ๆ นี้