ThaiBMA เก็ง กนง.คงดอกเบี้ยสวนทางเพื่อนบ้าน

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เผยดัชนีคาดการณ์ดอกเบี้ย กนง. เดือน ก.ย.คงที่ 1.50% ชี้ไทยสวนประเทศเพื่อนบ้านพาเหรดขึ้นดอกเบี้ยกันปีนี้แล้ว ขณะเงินต่างชาติไหลเข้าไม่หยุดตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.ถึงปัจจุบันราว 5.7 หมื่นล้านบาท พร้อมระบุต่างชาติเน้นถือบอนด์สั้นของ ธปท. เข้า-ออกเร็ว ฟาก ส.นักวิเคราะห์ลุ้นตัวโก่งเลือกตั้งชัดเจนปลุกตลาดหุ้นไทย

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยเดือน ก.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 56 ซึ่งปรับตัวสูงสุดในรอบปีนี้ สะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 1.50% ในการประชุมรอบเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้ (19 ก.ย. 2561) โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมาจากการขยายตัวเศรษฐกิจในประเทศและอัตราเงินเฟ้อ ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ เงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) และอัตราดอกเบี้ยตลาดโลก

โดยเฉพาะการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมถึงต้องติดตามดีมานด์ซัพพลายของปีงบประมาณ 2562 ที่เริ่มเดือน ต.ค. 61 นี้ว่า ตารางการประมูลพันธบัตรของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาเป็นอย่างไร

ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกในปี 2562 พบว่า อินโดนีเซียมีการปรับขึ้นมาแล้ว 4 ครั้ง จากระดับ 4.25% มาอยู่ที่ 5.5% ฟิลิปปินส์ปรับขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง จากระดับ 3% มาอยู่ที่ 4% และมาเลเซียปรับขึ้นแล้ว 1 ครั้ง อยู่ที่ 3.25% จากเดิม 3% ส่วนทางสหรัฐมีการปรับขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าไทยเป็นประเทศเดียวในแถบอาเซียนที่ยังไม่ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ปี 2558

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะทำให้ กนง.ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค. ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.62% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 เดือนที่ผ่านมา แต่หากพิจารณากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ กนง.กำหนดอยู่ที่ 1-4% พบว่า อัตราเงินเฟ้อเพิ่งเริ่มขยับขึ้นมาอยู่ใกล้ ๆ ค่าเฉลี่ยที่อยู่ 2%เท่านั้น จึงทำให้ผลสำรวจออกมาว่าการประชุม กนง.รอบ ก.ย. 2561 จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ส่วนกระแสฟันด์โฟลว์ในตลาดตราสารหนี้ไทย (ตลาดบอนด์) นางสาวอริยากล่าวว่า เริ่มเห็นสัญญาณไหลกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ไทยตั้งแต่กลางเดือน ส.ค. 61 มากกว่า 5.7 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดของธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้เกิดเงินไหลออกจากตลาดบอนด์ และตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับปัจจุบัน (ณ สิ้น ส.ค. 61) เงินต่างชาติไหลกลับเข้ามาในตลาดบอนด์ราว 59,650 ล้านบาท ทำให้ยอดถือครองของนักลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยอยู่ที่ 890,476 ล้านบาท ถือว่าใกล้เคียงระดับสูงสุดเมื่อสิ้นเดือน ม.ค. 61 ที่อยู่ระดับ 912,591 ล้านบาท

“ส่วนใหญ่ต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 1 ปี ซึ่งเน้นลงทุนระยะยาวสัดส่วนมากถึง 79% ทำให้กระแสฟันด์โฟลว์ไหลเข้า-ออกเร็ว ทำไม่ได้ง่าย ๆ เนื่องจากสภาพคล่องไม่ได้มากเหมือนกับพันธบัตรระยะสั้น ส่วนที่เหลือจะเป็นการถือครองพันธบัตรของแบงก์ชาติที่มีอายุสั้น ๆ ประมาณ 1, 3, 6 เดือน ซึ่งเม็ดเงินส่วนนี้มีความเป็นไปได้ที่กระแสฟันด์โฟลว์จะไหลเข้า-ออกเร็ว เพราะค่อนข้างมีสภาพคล่องสูง” นางสาวอริยากล่าว

นางสาวอริยาระบุว่า จากผลสำรวจคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ในช่วงการประชุม กนง.รอบเดือน พ.ย. 61 จะอยู่ที่ระดับ 94 และ 91 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน สะท้อนให้เห็นว่าตลาดส่วนใหญ่เชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในส่วนของบอนด์ที่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะ 5 ปี (บอนด์ยีลด์) อยู่ที่ 2.2% ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นมา 0.42% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปี อยู่ที่ 2.75% หรือเพิ่มขึ้นมา 0.2% นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการและกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวถึงตลาดหุ้นไทยว่า ผลสำรวจของสมาคมประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น ๆ ณ สิ้นเดือน ก.ย.นี้ อยู่ที่ระดับ 1,735 จุด โดยคาดเป้าดัชนีสิ้นปี”61 จะอยู่ที่ 1,794 จุด กำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ที่ 109.58 บาท EPS growth อยู่ที่ 10.22% บนระดับ P/E ที่ 16.03 เท่า โดยเห็นว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยมีน้อยมาก ประกอบกับการเลือกตั้งที่มีความชัดเจนขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าจะเกิดขึ้นช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. 62 ซึ่งประเด็นนี้น่าจะสร้างความคึกคักให้ตลาดหุ้นไทยได้ และทำให้ภาคธุรกิจกระเตื้องขึ้นมาได้ รวมทั้งเศรษฐกิจฐานรากเริ่มได้รับผลดีจากราคาพืชผลที่กลับมาดีขึ้น