ธปท.ส่องเอสเอ็มอีเล็กเดี้ยงเพิ่มขึ้น ดันหนี้เสียพีกสุดไตรมาส 4 !

ธปท.ชี้เอ็นพีแอลของแบงก์ทั้งระบบ ไหลไม่เลิก จับตาเอสเอ็มอีไซซ์เล็ก คาดหนี้เสียพุ่งสุดไตรมาส 4 ระบุครึ่งปีแรกธุรกิจรายใหญ่กลุ่มเหมืองแร่ ปูดดันเอ็นพีแอลรวมสูงเฉียด 3% ส่องเทรนด์สินเชื่อครึ่งปีหลังโตตามเป้า 4.6% แรงหนุนจาก บสย.ช่วยเพิ่มดีมานด์ขอกู้ใหม่

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ครึ่งปีหลังแนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังคงไหลอย่างต่อเนื่องและขึ้นสูงสุด (พีก) ในไตรมาส 4 ปีนี้ หลังจากในช่วงครึ่งปีแรก (สิ้น มิ.ย. 2560) เอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.95% ของสินเชื่อรวม ซึ่งหลัก ๆ มาจากภาคธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ทั้งนี้ แยกเป็นเอ็นพีแอลของธุรกิจเอสเอ็มอี 4.42% และมีหนี้เสียของธุรกิจรายใหญ่ที่ทำเหมืองแร่สูงถึง 18.75% ในช่วงไตรมาส 2/60

อย่างไรก็ตาม ธปท.ระบุว่า หากไม่นับรวมเอ็นพีแอลของธุรกิจรายใหญ่ดังกล่าว จะทำให้ภาพรวมของหนี้เสียทั้งระบบลดลงมาอยู่ที่ 2.86% ของสินเชื่อรวม ถือว่าลดลงจากไตรมาสแรกที่มีสัดส่วน 2.94% ของสินเชื่อรวม

“เอ็นพีแอลที่มาจากรายใหญ่เชื่อว่าจะไม่ลาม และไม่น่าจะมีเคสใหญ่เหมือนที่ผ่านมาแล้ว ส่วนช่วงที่เหลือปีนี้ เอ็นพีแอลที่จะไหลต่อก็จะมาจากกลุ่มเอสเอ็มอีเล็ก ในระยะข้างหน้า ธปท.คาดว่าจะดีขึ้น เพราะหากดูเอ็นพีแอลใหม่มีอัตราการขยายตัวชะลอลง และแบงก์ก็มีการบริหารจัดการหนี้ เช่น การขายหนี้ และการไรต์ออฟ (ตัดหนี้สูญ) ออกมา หากเศรษฐกิจฟื้นก็ช่วยเรื่องเอ็นพีแอลให้ลดลงในอนาคต” นางสาวดารณีกล่าว

สำหรับภาพรวมของสินเชื่อในธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ธปท.คาดการณ์ว่า ยังขยายตัวได้ระดับ 4-6% จากครึ่งปีแรกที่เติบโตอยู่ที่ 3.3% เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนของภาครัฐและเอกชนมากขึ้น รวมถึงมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อ เช่น มาตรการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ช่วยให้ภาคธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น จึงน่าจะทำให้เห็นความต้องการขอสินเชื่อใหม่ ๆ มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2560

ส่วนการตั้งสำรองหนี้ของธนาคารโดยรวมช่วงครึ่งปีแรก (ณ สิ้นมิ.ย.) ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.61 แสนล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอในการรองรับความเสี่ยงด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพที่จะเกิดขึ้นภายในปีนี้ เช่นเดียวกันการตั้งสำรองในส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์รุนแรง ซึ่งธนาคารโดยรวมได้มีการตั้งสำรองเกินกว่า 10 เท่า จากมาตรฐานที่ ธปท.ตั้งไว้ที่ 70% ของเงินสำรองพึงกัน ทำให้การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (LCR) ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 162.3% ในครึ่งปีแรกนี้