สัญญาณเบรก กนง.ขึ้น ดบ. ลุ้นกันใหม่ปีหน้าช่วงเลือกตั้ง

นับถอยหลังประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง หลังกฎหมายออกมาหมาด ๆ เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา ถือเป็นข่าวดีในประเทศไทย เรียกความเชื่อมั่นกลับมา ที่สำคัญ ดันตลาดหุ้นไทยเด้งขึ้นสดใส เรียกเงินต่างชาติไหลกลับเข้ามาลงทุนทันทีในวันเดียวราว 2 พันล้านบาท (13 ก.ย.) จากที่ก่อนหน้านี้ขายสุทธิมาต่อเนื่อง บวกกับเงินต่างชาติที่ไหลเข้าตราสารหนี้ไทยอยู่ก่อนหน้านี้ ช่วงนี้เงินบาทจึงได้กลับมาแข็งค่า และล่าสุด (14 ก.ย.) เคลื่อนไหวระดับ 32.60 บาท/ดอลลาร์

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่มีความเสี่ยงเพิ่มเข้ามา คือ เรื่องของวิกฤตค่าเงินในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (emerging market) ทำให้หลาย ๆ ประเทศดังกล่าวปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อพยุงค่าเงินและสกัดเงินต่างชาติไหลออก โดยเฉพาะตุรกี ล่าสุดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสูงอีกราวเกือบ 6.25% มาอยู่ที่ 24% ส่วนประเทศเพื่อนบ้านรอบเราก็มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายกันเป็นแถว (ดูตารางประกอบ) โดยขยับขึ้นมาอยู่ระดับ 3.25-5.5% และดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นมาอยู่ที่ 1.75-2% ทิ้งห่างดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่อยู่ระดับ 1.5%

แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยดูจะทำได้ยากขึ้นในปีนี้ ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ในการประชุม กนง.รอบ 19 ก.ย. 2561 นี้ คาดว่าคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถึงแม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ไตรมาส 2/61 มีสัญญาณบวกต่อเนื่อง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังจำกัดอยู่ และในระยะข้างหน้าคาดการณ์เงินเฟ้อยังไม่มีสัญญาณในการปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายยังมีไม่มากในเวลานี้

ในด้านความเสี่ยงของเงินไหลออกรวดเร็วก็ยังอยู่ในระดับต่ำ เพราะไทยมีเสถียรภาพต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ทั้งเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินทุนสำรองประเทศที่ยังสูงอยู่ และถือว่าอยู่ระดับต้น ๆ ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่

“ทำให้ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ จะเห็นได้จากต่างชาติซื้อสุทธิในพันธบัตรไทย ด้วยสภาวะดังกล่าว หากปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้อาจส่งผลให้ประเทศไทยดึงดูดเงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้น และกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่แข่งทางการค้าได้ ซึ่งเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่เผชิญกับเงินทุนไหลออกจนค่าเงินอ่อนค่าท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อปรับขึ้น ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงต่ำที่จะเผชิญกับภาวะดังกล่าว”

ส่วนในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า จุดสนใจของตลาดจะอยู่ที่ “จังหวะเวลา” ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. และถึงแม้ว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะทำให้เงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อาจทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินในภูมิภาค แต่สำหรับประเทศไทยมีเสถียรภาพแข็งแกร่ง ทำให้ความเสี่ยงที่เงินทุนไหลออกรวดเร็วยังจำกัดอยู่ บวกกับทิศทางเศรษฐกิจของไทยครึ่งปีหลัง น่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง จึงมองว่า กนง.น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% จนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนความเสี่ยงสงครามการค้ายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอยู่ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้ กนง.ยังระมัดระวังการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบัน

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ในรอบการประชุม กนง.ที่เหลือในปลายปีนี้อาจจะยังไม่เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้

ขณะที่กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ขุนคลัง “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” แตะเบรกก่อนกนง.ประชุมรอบ ก.ย. นี้ โดยมีความเห็นว่า เท่าที่กระทรวงการคลังมีข้อมูลต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจนั้น ยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้ โดยเฉพาะในภาวะที่เงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ระดับต่ำ (8 เดือนแรกเฉลี่ย 1.12%)

พร้อมกับออกตัวว่า การขึ้นดอกเบี้ยเป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่จะต้องชั่งน้ำหนักเหมือนธนาคารกลาง (เฟด) เพราะจริง ๆ เดิมเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่านี้ เร็วกว่านี้ แต่เนื่องจากมีสงครามการค้าจึงชะลอการขึ้นดอกเบี้ยให้ช้าไปอีก

ส่วนผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยขุนคลัง กล่าวว่า แน่นอนว่าจะมีผลต่อการลงทุนลดลง และความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนและบริษัทก็ลดลงไปด้วย รวมถึงต้นทุนรัฐบาลที่จะเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในวิสัยที่จะบริหารจัดการได้

ซึ่งแบงก์ต่างก็เฝ้ารอดูอยู่ แม้แต่ฟากแบงก์รัฐก็คงจะอั้นไม่ไหว โดย นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ถ้า กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย ทุกสถาบันการเงินคงจะต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม รวมถึงออมสินก็จะมีการทบทวนการปรับขึ้นดอกเบี้ยเหมือนกัน ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุน จะทำให้ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย

เช่นเดียวกับ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย มีความเห็นส่วนตัวว่า กนง.น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปีนี้อยู่ที่ 1.50% และหากว่ามีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็จะส่งผลกระทบต่อธนาคารทั้งในด้านต้นทุนทางการเงินของธนาคาร


คลื่นความถี่ของการขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจจะห่างออกไปเป็นปีหน้า ซึ่งก็จะเป็นช่วงเวลาที่ไทยกำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งแล้ว