ค่าเงินบาทอ่อนค่า หลังมีประเด็นความไม่แน่นอนสงครามการค้า

AFP PHOTO/ Nicolas ASFOURI

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 17 กันยายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/9) ที่ 32.70/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/9) ที่ 32.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าจากความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนหลังจากที่ประธานาธิบดีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐมีแนวโน้มที่จะเดินหน้าแผนการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมจากสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางด้านหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล (WSJ) ระบุว่าสหรัฐอาจจะกำหนดอัตราภาษีไว้ที่ราว 10% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 25% ที่เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ โดยนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐได้เสนอให้สหรัฐกับจีนเจรจาการค้ารอบใหม่ โดยจะเริ่มต้นราววันที่ 20 ก.ย. แต่จีนอาจจะปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการเจรจาการค้าในสัปดาห์หน้า เพราะว่ารัฐบาลจีนจะไม่ยอมเจรจาต่อรองภายใต้การข่มขุ่จากทางสหรัฐ โดยนางโจฮันนา ฉั่ว นักเศรษฐศาสตร์ของซิตี้กรุ๊ป กล่าวว่า ตลาดการเงินอาจจะได้รับผลกระทบในทางลบเป็นอย่างมาก ถ้าหากไม่มีการเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐ เพราะว่าการเจรจาดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการคลี่คลายความขัดแย้งทางการค้า ในส่วนของตัวเลขทางเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่ายอดค้าปลีกของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือน ส.ค.ซึ่งเป็นการปรับตัวน้อยที่สุดในรอบ 6 เดือน แต่ข้อมูลเดิือน ก.ค.ได้ถูกปรับขึ้นจาก 0.5% เป็น 0.7% ซึ่งสนับสนุนมุมมองเกี่ยวกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่งในไตรมาส 3 นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค.ของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งด้วย ด้านนางเจเน็ต เยลเลน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในวันศุกร์ (14/9) ว่า เฟดกำลังเผชิญกับช่วงเวลา “ที่ท้าทายมาก” ในความพยายามทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวต่อไป ในขณะที่มีความเสี่ยงที่การว่างงานที่ระดับต่ำอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะร้อยแรงจนเกินไป โดยถ้อยแถลงนี้เป็นการอ้างอิงถึงความยากลำบากที่เฟดต้องเผชิญในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้พุ่งสูง แต่ต้องไม่ทำให้เศรษฐกิจชะลอการเติบโตลงในเวลาเดียวกัน เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้งในปีนี้ และนักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 25-26 ก.ย. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.63-32.71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.63/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (17/9) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1629/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/9) ที่ 1.1697/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยการประชุมสุดยอดเรื่อง Brexit รอบแรกจากทั้งหมด 3 รอบจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ (20/1) ขณะที่ผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) หวังที่จะบรลุข้อตกลงสำหรับการถอนตัวของอังกฤษภายใน 2 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้นักลงทุนจะรอดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของ
ยูโรโซนในช่วงต่อไปในวันนี้ และจะรอฟังถ้อยแถลงของนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในวันอังคาร (18/9) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1620-1.1657 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1653/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้ (17/9) เปิดตลาดที่ระดับ 112.09/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (14/9) ที่ระดับ 111.78/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันสกุลเงินเยนเคลื่อนไหวเล็กน้อยจากการซื้อขายที่เบาบางเนื่องจากตลาดการเงินญี่ปุ่นปิด ทำการในวันหยุด อีกทั้งนักลงทุนรอดูรายละเอียดเรื่องมาตรการภาษี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.86/112.12 เยน/
ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.94/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตของรัฐนิวยอร์กเดือน ก.ย. (17/9), ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดประจำไตรมาส 2/2018 (19/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (20/9), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้น เดือน ก.ย. (21/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.10/-2.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประทเศอยู่ที่ -5.20/-4.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ