โอกาสซื้อ

คอลัมน์ จับช่องลงทุน

โดย วิจิตร อารยะพิศิษฐ, สรพล วีระเมธีกุล บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)

สงครามการค้ากดดันการลงทุน จับตาท่าทีการเจรจา เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ กับจีน ตั้งแต่ต้นปีนี้ที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ส่งผลให้มูลค่าสินค้าที่ถูกตั้งกำแพงภาษีเร่งตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยล่าสุดทางด้านประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวพร้อมที่จะปรับเพิ่มวงเงินมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญ ต่อสินค้าจีนในเร็ว ๆ นี้ อีกทั้งยังอาจพิจารณาปรับเพิ่มวงเงินสินค้าเพิ่มอีกราว 2.67 แสนล้านเหรียญ เป็นแรงกดดันที่สำคัญ

แต่อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย ก็ยังมีโอกาสที่ทั้งคู่พร้อมที่จะกลับมาเจรจากันอีกครั้ง โดยคาดเห็นความชัดเจนของการเจรจาเพิ่มมากขึ้นในช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้ จึงอาจส่งผลให้แรงกดดันเรื่องสงครามการค้าในระยะสั้นผ่อนคลายลง ผสานกับปัจจัยบวกภายในประเทศ จากทั้งสัญญาณเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวขึ้นเด่น และกระบวนการเลือกตั้งไทยในปัจจุบันยังคงเดินหน้าได้ตามกรอบที่ประเมินไว้ คือมีโอกาสจัดเลือกตั้งไม่เกินช่วงไตรมาส 2 ของปี 2562 ถือเป็นจิตวิทยาเชิงบวกที่เข้ามาช่วยหนุน SET ปรับตัวขึ้นในระยะสั้นได้

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความผันผวนต่าง ๆ แนะนักลงทุนยังจำเป็นต้องระมัดระวังเช่นเดิม เนื่องจากภาพความเสี่ยงของสงครามการค้าโลกอาจจะกลับมากดดันตลาดได้อีกครั้ง หากการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีนล้มเหลว เหมือนหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา

ในกรณีการเจรจาปัญหาการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง ทางเราประเมินว่าหากผลการเจรจาเป็นที่น่าพอใจของตลาด คาดจะหนุนให้ SET (ดัชนีตลาดหุ้นไทย) ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 1,730 จุดได้ โดยมีโอกาสทดสอบแนวต้านถัดไปที่บริเวณ 1,750 จุด

แต่ในทางกลับกัน ในกรณีที่ตลาดผิดหวังต่อการเจรจารอบนี้ อาจส่งผลให้ SET ระยะสั้นปรับตัวลงทดสอบระดับ 1,706 จุด (บริเวณเส้นค่าเฉลี่ย EMA 200 วัน) และประเมินแนวรับที่มีนัยสำคัญถัดไปทั้งทางด้านปัจจัยพื้นฐาน และทางปัจจัยเทคนิค ที่บริเวณ 1,650 จุด ในเชิงปัจจัยพื้นฐาน บริเวณดัชนี 1,650 จุด ถือว่าเป็นระดับ PE ratio ที่ 15.2 เท่า (ประเมินกำไรตลาดปี 2561 ที่ 108.50 บาทต่อหุ้น) ซึ่งระดับนี้ ถือเป็นบริเวณค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีของ PE ratio ของ SET

ดังนั้นในภาวะตลาดปกติ หากดัชนีต่ำกว่าระดับ ค่าเฉลี่ยถือเป็นจุดที่เริ่มน่าสนใจในการลงทุน ในเชิงปัจจัยเทคนิค หากพิจารณากรอบดัชนีในปีนี้ ซึ่งทำจุดสูงสุดบริเวณ 1,852 จุด และทำจุดต่ำสุดบริเวณ 1,584 จุด โดยใช้เครื่องมือ Fibonacci ในการวิเคราะห์จะพบว่า ระดับดัชนี 1,650 จุด เป็นบริเวณ Fibonacci retracement ที่ 23.6% ถือเป็นแนวรับแรกในเชิงเทคนิคที่มีนัยสำคัญ และน่าทยอยสะสม

เรายังมีมุมมองบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ โดยแนะนำ 3 ธีมการลงทุนที่น่าสนใจดังนี้ 1) แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น สะสมธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 2) กลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ช่วง high season นำโดย ค้าปลีก, ท่องเที่ยว และ 3) หุ้นที่เกี่ยวข้องกับงานประมูลภาครัฐช่วงปลายปี เน้น รับเหมาก่อสร้าง & ปิโตรเลียมขั้นต้น

สำหรับรายละเอียดในกลุ่มหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น หลังสัญญาณเศรษฐกิจไทยขยายตัวขึ้นเด่น (ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ส.ค. +1.62% ขยายตัว 14 เดือนติดต่อกัน) โดยเราคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยไทยขึ้น 0.25% ในการประชุมเดือน พ.ย.นี้ ดังนั้นสำหรับหุ้นเด่นที่คาดได้ประโยชน์ในธีมการลงทุนนี้ คือ หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ (SCB, KBANK)

2) เข้าสู่ช่วง high season ช่วงปลายปี มักจะเป็นช่วงที่หลายกลุ่มอุตสาหกรรมเข้าสู่ช่วง peak เราแนะนำ 2 อุตสาหกรรม คือธุรกิจการท่องเที่ยวไทย คาดจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปีนี้ หลังโดนแรงกดดันหลายเหตุการณ์ในช่วงปลายปี โดยเราคาดภาครัฐอาจมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเร็ว ๆ นี้ และธุรกิจค้าปลีก ซึ่งมักจะได้อานิสงส์เชิงบวกในช่วงปลายปีจากการจัดงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ เร่งยอดขายฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ บวกกับสัญญาณดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค. ที่ทำจุดสูงสุดในรอบ 64 เดือน จึงถือเป็นจังหวะดีในการทยอยสะสมกลุ่มค้าปลีก ดังนั้นหุ้นเด่นที่คาดได้ประโยชน์ในธีมนี้ แนะสะสม หุ้นในกลุ่มท่องเที่ยว (SPA, PLAT, ERW) และกลุ่มค้าปลีก (BJC, CPALL, SYNEX)

และ 3) การประมูลโครงการภาครัฐ (government auction) คาดจะเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ทั้งงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน และงานปิโตรเลียม โดยสำหรับงานประมูลโครงสร้างพื้นฐาน คาดจะมีเม็ดเงินกว่า 6 แสน-1 ล้านล้านบาท ทยอยออกมาต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ส่วนงานปิโตรเลียม จับตาการประมูลสัมปทานปิโตรเลียม แหล่งเอราวัณ-บงกช ซึ่งคาดจะรู้ผลผู้ชนะภายในเดือน ธ.ค.นี้

ดังนั้นสำหรับหุ้นเด่นที่คาดได้ประโยชน์จากธีมการลงทุนนี้ได้แก่ หุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (STEC, BEM) และสัมปทานปิโตรเลียม (PTT, PTTEP, PRM)