GL เผยปีนี้ลุ้นพลิกมีกำไร เหตุไม่มีตั้งสำรองพิเศษเพิ่ม ชี้คุม NPLสิ้นปีไม่เกิน 4.5% เดินเครื่องกางแผน 5 ปียกระดับธุรกิจเป็น “มัลติไฟแนนซ์”

นายทัตซึยะ โคโนชิตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรุ๊ปลีส (GL) เปิดเผยว่า บริษัทเชื่อมั่นว่าปีนี้จะมีโอกาสพลิกกลับมาทำกำไรได้ หลังจากไม่มีการตั้งสำรองพิเศษเหมือนปีที่ผ่านมา โดยในปี 60 นั้นบริษัทมีกำไรขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 1,603.21 ล้านบาท แต่ครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.61) บริษัทสามารถกลับมามีกำไรได้แล้ว 226.45 ล้านบาท แต่ทั้งนี้หากจะให้เห็นภาพชัดเจนอาจจะต้องพิจารณางบตั้งแต่ปี 2562-2565 มากกว่า เพราะปีนี้อาจจะยังมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่การประกอบการปกติอยู่บ้าง แต่อะไรที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่กำลังมีปัญหาอยู่ขณะนี้จะไม่มีการตั้งสำรองเพิ่มเติมอีกแล้ว เพราะว่าได้มีการตั้งสำรองพิเศษเต็มมูลค่าไปแล้ว ซึ่งหากเกิดปัญหาขึ้นมาก็ยังมีมูลค่าการตั้งสำรองนั้น ที่จะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเอ็นพีแอล (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้)

“ปีนี้เราค่อนข้างโฟกัสอัตราการทำกำไร เพราะเราอยากจะให้กำไรเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ได้เน้นพอร์ตว่าจะต้องใหญ่มากขนาดไหน” นายทัตซึยะกล่าว

ปัจจุบันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทยังอยู่ในระดับ 4.5% ซึ่งคาดว่าสิ้นปีนี้จะคุมเอ็นพีแอลให้ไม่เกินระดับ 4.5% ต่อไปได้ เนื่องจากบริษัทค่อนข้างมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยขณะนี้ยอดปฏิเสธสินเชื่อขยับขึ้นมาอยู่ที่ 34% จากปีก่อนที่ระดับ 28% และมีการลดวงเงินอนุมัติสินเชื่อเพื่อคุมคุณภาพพอร์ตของบริษัท โดยในเดือน ก.ย.61 บริษัทได้พัฒนาระบบ Core System ที่สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อควบคุมเอ็นพีแอลให้มีคุณภาพมากขึ้น และประเมินว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า (2561-2565) กรณีที่แย่ที่สุด (Worst Case) จะควบคุมเอ็นพีแอลเต็มที่ในระดับ 6% ซึ่งบริษัทก็ยังไม่มีนโยบายขายหนี้ออกไปแต่อย่างใด
“บริษัทยอมรับว่าต้นทุนทางการเงินจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งปัจจุบันต้นทุนการเงินของเราอยู่ที่ 5.2% และอาจขยับเพิ่มสูงขึ้นในกรณีที่แย่ที่สุดที่ระดับ 7.5% ส่วนกรณีที่ดีที่สุด (Best Case) จะที่ระดับ 6.2% ซึ่งบริษัทมีแผนรองรับจากแหล่งเงินทุนที่หลากหลายในการนำมาขยายธุรกิจ ทำให้ไม่ค่อยกังวลในการหาเงินเข้ามา” นายทัตซึยะกล่าว

นายทัตซึยะกล่าวว่า ขณะเดียวกันบริษัทได้วางแผนธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า (2561-2565) โดยตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.21 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 65% จากปีก่อน และมีรายได้อยู่ที่ 4.6 พันล้านบาท เติบโต 74% จากปีก่อน โดยมีกลยุทธ์ในการให้บริการสินเชื่อจากการเป็น “ดิจิทัลไฟแนนซ์” สู่การเป็น “ไลฟ์ไซเคิลไฟแนนซ์” และขยายการให้บริการทางธุรกิจจากบริษัทลีสซิ่ง เป็นบริษัทมัลติไฟแนนซ์ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินเชื่อให้เพิ่มขึ้น

“เราได้เริ่มดำเนินการเรื่องนี้แล้ว โดยมีวงจรด้านการบริการทางการเงินแบบครบวงจร หลักๆ ในประเทศไทยจะเป็นการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซต์ใหม่ หลังจากที่ลูกค้าตกลงสัญญาและได้รถไปแล้วนั้นจะมีความเป็นเจ้าของ หลังจากนั้นลูกค้าสามารถมาต่อยอดกับบริษัทได้อีกโดยการเข้ามากู้สินเชื่อแบบมีหลักประกัน (ซึ่งเราดำเนินการโปรดักต์นี้มา 4 ปีแล้ว) หรืออาจจะต้องการขายรถออกไป (กลายเป็นรถมือสอง) เราก็มีบริการ GL Auction เข้ามาช่วย

นอกเหนือจากนี้เราก็ได้พัฒนาโปรดักต์ใหม่ชื่อ THANABAN Car Buy ที่รับซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซต์ โดยรับซื้อเสร็จก็มาปล่อย ส่วนตลาดรถมือสองเราดูแลลูกค้าต่อโดยมีโปรดักต์ชื่อว่า THANABAN Smart BIKE ซึ่งจะมาปล่อยสินเชื่อให้กับรถมือสอง

เมื่อลูกค้าผ่อนเสร็จเรียบร้อย กลับกลายเป็นเจ้าของเหมือนเดิม ซึ่งถ้าลูกค้าขายรถมือสองเราก็สามารถใช้โปรดักต์ THANABAN Car Buy มาซื้อและปล่อยขายรถมือสองต่อ และเมื่อลูกค้ามีเงินสดก็สามารถซื้อรถมือหนึ่งต่อได้ นี่ก็จะเป็นวัฏจักรแบบไลฟ์ไซเคิลไฟ โดยปัจจุบันยอดปล่อยกู้มอเตอร์ไซต์มือหนึ่งเฉลี่ยที่ 50,000 บาทต่อคัน ส่วนยอดปล่อยกู้บิ๊กไบท์สูงสุดอยู่ที่ 2.5 แสนบาทต่อคัน หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 หมื่นบาทต่อคัน ส่วนเงินกู้สินเชื่อจำนำปล่อยกู้เฉลี่ยอยู่ที่ 25,000 บาทต่อคน” นายทัตซึยะกล่าว

อย่างไรก็ตามบริษัทได้พัฒนาประสิทธิภาพการสร้างระบบเครือข่าย POS ที่มีต้นทุนต่ำ พร้อมกับมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่ายการบริหาร (Operating Cost) เช่น ค่าใช้จ่ายของสต๊าฟ, เงินเดือนพนักงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีการดำเนินธุรกิจอยู่ใน 7 ประเทศ โดยคาดว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้จะมาจากประเทศไทยอยู่ที่ 55% เมียนมา 18% ซึ่งเป็นการเติบโตแบบมีนัยสำคัญ ตั้งแต่เริ่มเข้าไปเทคโอเวอร์เมื่อไตรมาส 1/60 ละตั้งบริษัทใหม่เริ่มเห็นการเติบโตและคาดว่าจะมียอดสินเชื่อจาก 800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 5,010 ล้านบาทได้ ขณะที่กัมพูชาอยู่ที่ 17% หรือเป็นการปรับลดพอร์ตลงมาจากสถานการณ์ภายในประเทศที่มีความไม่แน่นอน ส่วนอินโดนีเซียอยู่ที่ 6% และลาว 4% จากปี 2560 ที่ไทยอยู่ 63% กัมพูชา 26% ลาว 5% เมียนมา 3% และอินโดนีเซีย 3%

โดยหากแบ่งรายได้ตามสัดส่วนสินค้า หลักๆ จะเป็นการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ 68% ไมโครไฟแนนซ์ 18% อื่นๆ 10% และสินเชื่อที่มีหลักประกัน 4% จากปี 2560 สินเชื่อเช่าซื้ออยู่ที่ 87% สินเชื่อที่มีหลักประกัน 6% อื่นๆ 5% และไมโครไฟแนนซ์ 2%

นายทัตซึยะ โคโนชิตะ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเด็นคดีความขณะนี้ศาลได้ยกฟ้องล้มละลายแล้ว ซึ่งอาจจะใช้เวลารออุทธรณ์ประมาณ 1 ปี ส่วนคดีความที่เหลือกรณี J Trust ฟ้องบริษัทในคดีแพ่งนั้น ศาลจะนัดชี้ 2 สถานในวันที่ 2 ต.ค.61 ซึ่งถ้าพิจารณาตามกำหนดนัด และนับจำนวนพยานทั้งหมดแล้ว คาดว่าในเบื้องต้นศาลแพ่งจะใช้เวลาสืบอย่างน้อย 2-3 ปี หาก J Trust ถอนฟ้องเราไปก่อนก็คงไม่มีผลอะไร
ซึ่งเราประเมินว่าศาลคงจะยกฟ้อง เพราะไม่มีเหตุผลที่จะมาเร่งการชำระเงิน โดยอาจจะไปรอกำหนดชำระหนี้ตามบอนด์ในอัตราดอกเบี้ย 5% ตามปกติ

ส่วนเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (18 ก.ย.61) ศาลได้ตัดสินคดีความที่บริษัทถูกฟ้องร้องล้มละลายให้เป็นความเท็จ ซึ่งฝ่ายโจทก์ก็ขอเลื่อนการพิจารณาคดีออกไป