เงินบาทแข็งค่า หลัง กนง.คงดอกเบี้ยที่ 1.50%

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 19 กันยายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/9) ที่ระดับ 32.58/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (18/9) ที่ระดับ 32.57/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงถูกกดดันจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นจำนวนวงเงินที่ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอัตราภาษีที่ 10% ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายนนี้ และจะมีการเพิ่มอัตราภาษีเป็น 25% ในช่วงต้นปี 2562 ทั้งนี้รัฐบาลจีนได้ออกมาตอบโต้มาตรการการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์เช่นกัน โดยจีนประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ ในอัตราภาษี 5-10% คิดเป็นวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 กันยายนเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีดังกล่าวยังต่ำกว่าระดับ 20% ที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้

สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) ประจำครั้งที่ 6/2561 ณ วันที่ 19 กันยายน คณะกรรมการมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี โดย กนง.ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางดีขึ้น ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ดังเดิม พร้อมทั้งภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ กนง.ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงที่มีต่อระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน ซึ่ง กนง.
เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% เช่นเดิม ในขณะที่กรรมการอีก 2 ท่านมีความเห็นสมควรให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากความต่อเนื่องของการขยายตัวททางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันนั้นมีความชัดเจนเพียงพอ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงินซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยได้ ดังนั้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ซึ่งหลังจากผลการประชุมดังกล่าว ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.43-58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.43/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (19/9) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1667/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/9) ที่ระดับ 1.1686/88 สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยตลาดยังคงจับตารอความคืบหน้าของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1652-1.1715 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1698/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (19/9) เปิดตลาดที่ระดับ 112.27/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (18/9) ที่ระดับ 111.92/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ได้เสร็จสิ้นในวันนี้ คณะกรรมการบริหารด้านการเงินของ BOJ ได้มีมติด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับติดลบ 0.1% และคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไว้ใกล้ระดับศูนย์ รวมทั้งได้แสดงความคิดเห็นของนโยบายการเงินในอนาคตว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.21-112.49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.31/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดประจำไตรมาส 2/2018 (19/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (20/9), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐ เดือน ส.ค. (20/9), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือน ก.ย. (21/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.1/-2.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.3/-3.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ