ธ.ก.ส.ออกมาตรการเพิ่มเติมสินเชื่อ 0% 6 เดือน ช่วยเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม

ธ.ก.ส.ออกมาตรการเพิ่มเติม เตรียมสินเชื่อดอกเบี้ย 0% 6 เดือน วงเงิน 10,000 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม 44 จังหวัด

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นเซินกาทำให้เกิดวิกฤติน้ำท่วมในพื้นที่ 44 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพื้นที่การเกษตร ซึ่งธ.ก.ส.ได้เร่งดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรลูกค้า โดยมาตรการเร่งด่วนที่ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการคือ มอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยออกเยี่ยมเยียนลูกค้าและนำถุงยังชีพไปมอบเพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้นรวมถึงให้กำลังใจแก่เกษตรกรลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทั้งนี้ สำหรับภาระหนี้สินเดิมที่เกษตรกรลูกค้ามีอยู่กับธ.ก.ส.นั้น เพื่อเป็นการลดภาระ ให้กับพี่น้องเกษตรกร ธนาคารจะดำเนินการผ่อนผันการชำระหนี้ออกไปให้ไม่เกิน 12 เดือน โดยไม่คิดดอกเบี้ยปรับ นอกจากนั้น สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 เมื่อดำเนินการสำรวจพื้นที่การเกษตรแล้วพบว่ามีความเสียหายเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ ก็จะได้รับความคุ้มครองไร่ละ 1,260 บาท

นายอภิรมย์ กล่าวต่อว่า “ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยจะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรลูกค้าเพื่อให้มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตและค่าใช้จ่ายจำเป็นฉุกเฉิน เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น ค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ โดยตั้งเป้าช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 200,000 ราย วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท กำหนดวงเงินกู้สูงสุดตามความจำเป็นแต่ละรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน ในเดือนที่ 7 เป็นต้นไป คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR ซึ่งในปัจจุบันเท่ากับ 7% ต่อปี กำหนดชำระคืนแล้วเสร็จไม่เกิน 3 ปี นับตั้งแต่วันกู้ สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ สามารถติดต่อขอสินเชื่อได้ ที่ ธ.ก.ส.สาขาในพื้นที่ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 พฤศจิกายน 2560”


“สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาครอบครัวละ 3,000 บาท ให้กับเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมตามมติคณะรัฐมนตรีโดยใช้เงินงบประมาณจากภาครัฐนั้น ธ.ก.ส.พร้อมทำหน้าที่เป็นแคชเชียร์ตามที่ได้รับมอบหมายโดยจะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ตามรายชื่อและเลขที่บัญชีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งมาซึ่งธ.ก.ส. พร้อมดำเนินการทันทีเมื่อได้รับรายชื่อ” นายอภิรมย์กล่าวทิ้งท้าย