ประกันไทยจุกต้นทุนแซงอาเซียน “ค่าคอม-เคลม” พีกนำหน้าสิงคโปร์-มาเลย์

สมาคมประกันวินาศภัยไทยชี้บริษัทประกันในไทยแบกต้นทุนค่าใช้จ่ายรับประกันภัยสูงสุดในอาเซียน เปิดข้อมูลเฉลี่ย 5 ปี พีกแตะ 91.72% แซงหน้า 3 ประเทศ “บรูไน-มาเลเซีย-สิงคโปร์” ระบุค่าเคลมประกันและค่าใช้จ่ายยังพุ่งต่อเนื่อง แนะบริษัทประกันคุมเคลม-ปรับคอมมิสชั่น ด้าน “นพดล” ระบุการประชุม 4 ส.ประกันระดับอาเซียนหนุนแลกเปลี่ยนความรู้-ป้องกันเคลมทุจริตในอนาคตได้

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการประชุมความร่วมมือกับ 4 สมาคมประกันวินาศภัยในภูมิภาคอาเซียนระหว่างไทย, บรูไน, มาเลเซีย และสิงคโปร์นั้น พบว่า ค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยทั้งหมด (combined ratio) ตั้งแต่ปี 2556-2560 ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยสูงสุดใน 4 ประเทศนี้ ซึ่งไทยอยู่ที่ 91.72% แยกเป็นค่าเคลมประกัน (loss ratio) อยู่ที่ 51.66% และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (expense ratio) อยู่ที่ 40.06% ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ น้อยกว่าไทยทุกด้าน

โดยปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยทั้งหมดที่บริษัทประกันวินาศภัยต้องจ่ายหลัก ๆ มี 2 ส่วน คือ 1.ค่าคอมมิสชั่นที่จ่ายให้คนกลางประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์, โบรกเกอร์, ตัวแทน/นายหน้า และ 2.ค่าเคลมประกันที่จ่ายให้กับลูกค้า เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องบูรณาการกัน ซึ่งอาจให้บริษัทประกันหารือร่วมกันในการปรับค่าคอมมิสชั่นเพื่อควบคุมต้นทุนการบริหารจัดการ โดยที่บริษัทประกันขนาดเล็กยังสามารถแข่งขันได้

“ขณะนี้ค่าคอมมิสชั่นในส่วนประกันภัยรถยนต์ของไทยยังอยู่ในระดับสูงที่ 18% ในขณะที่สิงคโปร์ และมาเลเซีย อยู่ที่ 10-12%” นายกี่เดชกล่าว

นายนพดล สันติภากรณ์ อุปนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ในฐานะประธานการจัดการประชุมครั้งนี้ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนเริ่มมีแนวโน้มหันมาให้ความสนใจในการควบคุมค่าใช้จ่ายการรับประกันภัยมากขึ้น เพราะภายใต้บริบทการค้าเสรี เบี้ยประกันภัยเริ่มมีการแข่งขันสูง จนทำให้อัตราการเคลมประกัน (ลอสเรโช) ปรับเพิ่มขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์บางประเทศที่เริ่มจะมีปัญหา เพราะเจอเคลมทุจริต (fraud claim) ค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น การร่วมมือกันครั้งนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการป้องกันการฉ้อฉล หรือเคลมทุจริตในอนาคตได้

“ปัจจุบันเคลมทุจริตในไทยถือว่ายังไม่สูงมาก แต่หลัก ๆ มาในรูปแบบการประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยทรัพย์สิน และประกันสุขภาพ อย่างเช่น ไม่มีประกันรถแล้วแจ้งว่าเกิดเหตุจากรถคันที่มีประกัน หรือการทำร้ายตัวเองเพื่อหวังเงินประกัน” นายนพดลกล่าว

ทั้งนี้ สมาคมประกันวินาศภัยเองก็อาจจะต้องออกมาส่งสัญญาณบางอย่างเพื่อป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้ แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว กลไกจะปรับตัวมันเอง โดยที่การแข่งขันจะอยู่บนพื้นฐานของความสามารถ หากต้นทุนสูงเกินไปจนไม่สามารถแข่งขันได้ บริษัทประกันภัยเองก็ต้องมีการปรับตัวอยู่ดี เพราะในโลกการประกันภัย ขณะนี้บริษัทประกันนอกจากจะต้องปรับเพื่อสอดรับกฎกติกาหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แล้ว ยังต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตัวเอง (self-regulate) มากขึ้นด้วย

“ถ้าเป็นบริษัทประกันที่อยู่ในประเทศกำลังขยายตัวอย่างไทย และจ่ายคอมมิสชั่นเยอะ คงต้องหาทางเลือกว่าจะควบคุมอะไรก่อน อาทิ ลดค่าใช้จ่ายส่วนการรับประกันที่สามารถดึงระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยได้มากขึ้น หรืออะไรที่มีความเสี่ยงมากก็จะต้องปรับเบี้ยประกันให้เหมาะสม” นายนพดลกล่าว


นอกจากนี้ ผลกระทบแวดล้อมที่มีผลต่อต้นทุนการบริหารจัดการ กรณีที่มีเขตปลอดอากร (free zone) มากขึ้น ค่อนข้างส่งผลต่อต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัทประกันที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้น การควบคุมค่าใช้จ่ายการรับประกันอาจจะต้องมีการบาลานซ์ (balance) เรื่องเหล่านี้เข้าไปด้วย