บิ๊กแบงก์กรุงเทพ ไขโจทย์ “เลือกตั้ง-เทรดวอร์” ลุ้น ศก.ดันสินเชื่อโต 5%

เดชา ตุลานันท์

สัมภาษณ์

นับเป็นข่าวดีของประเทศไทยที่กฎหมายการเลือกตั้งออกมาแล้ว ทำให้บรรยากาศเศรษฐกิจในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง ไม่เพียงพรรคการเมืองที่มีการเคลื่อนไหวขยับขยายกัน มุมของนักธุรกิจก็เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจแบงก์ที่จะได้ประโยชน์เต็ม ๆ หากเศรษฐกิจกลับมาสดใสได้ ซึ่งล่าสุดได้มีโอกาสพูดคุยกับนายแบงก์รุ่นเก๋า “เดชา ตุลานันท์” ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ (BBL) ซึ่งเป็นแบงก์พาณิชย์ใหญ่ในวงการมาอัพเดตสถานการณ์ต่าง ๆ ดังนี้

Q : เลือกตั้งจะดีต่อเศรษฐกิจแค่ไหน

ผมว่าการเลือกตั้งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติสบายใจ เซนติเมนต์การลงทุนก็จะกลับมามากขึ้น เศรษฐกิจไทยอาจจะดีขึ้น ผมมองว่าการเลือกตั้งก็ไม่ได้ง่าย ตอนนี้ก็ยังไม่มีกำหนดวันที่แน่ชัด ส่วนการลงทุนใหม่ก็คงจะมีเพิ่มมากขึ้น แต่ตอนนี้ยังไม่เห็น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคนมาขอสินเชื่อธนาคารกรุงเทพไม่มาก เพราะยังไม่ได้มีการลงทุนจริง ๆ จัง ๆ หรือมีน้อยมาก ก็เข้าใจได้ว่าประเทศไทยธุรกิจทรงตัวพอสมควร ซึ่งสินเชื่อจะขยายหรือไม่ขยายคงไม่ได้มองแค่ปัจจัยในประเทศอย่างเดียว แต่ต้องมองปัจจัยนอกประเทศอย่างอเมริกาและยุโรปว่าเป็นอย่างไรด้วย ซึ่งเรามองสินเชื่อธนาคารปีหน้ายังโตทรงตัว 5%

Q : สงครามการค้า (เทรดวอร์) จะกระทบไทยไหม

นักลงทุนไทยก็ต้องปรับตัว เช่น สินค้าตัวไหนที่จีนเข้าไปไม่ได้ เพราะเสียภาษีมาก คนไทยหลายคนก็เข้าไปทำ เช่น ยางรถยนต์ที่ส่วนใหญ่มาจากจีน แต่ไทยยังดีอยู่ ผลกระทบจากสหรัฐ-จีนต่อเราก็เพียงนิดเดียว ส่วนการชะลอลงทุนในอเมริกา จีนก็หยุดแล้วตอนหลัง ๆ ไม่มีคนคิดไปลงทุนหรือทำอะไรในสหรัฐเท่าไหร่ แต่อย่างที่เห็นแม้จีนเบรกมาแล้ว ไทยเราก็ยังตามจีนไม่ทัน ปัญหาของบ้านเราในเวลานี้ คือ ต้องปรับปรุงวิธีการผลิต เมื่อเขามีความต้องการทีละเยอะ ๆ เราก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นการผลิตแบบออโตเมติกถึงจะไปต่อได้

Q : สินเชื่อแบงก์ขยายตัวมากขึ้นหรือไม่

สถานการณ์สินเชื่อของธนาคารกรุงเทพในครึ่งปีหลังนี้ก็ยังดีอยู่ โตตามเป้าหมาย 3-5% ซึ่งจนถึงวันนี้สินเชื่อก็โตถึง 4% แล้ว ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์-อิเล็กทรอนิกส์ ก็รู้กันว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตสูงอยู่แล้ว ส่วนโครงการใหญ่ ๆ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายด้านอินฟราสตรักเจอร์ของรัฐมากกว่า เช่น รถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ เป็นต้น

Q : สินเชื่อกลุ่มทีวีดิจิทัลเป็นอย่างไรบ้าง

ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ แต่ so far so good ตอนนี้ยังไม่มีอะไรเสีย แต่ก็ยอมรับว่าหลาย ๆ บริษัทรายได้ไม่พอ ไม่โต โดยเฉพาะรายได้จากโฆษณาในกลุ่มทีวีที่ลดลงเพราะค่าโฆษณาถูกลงแล้ว และมีคนซื้อโฆษณาทีวีไม่มาก ขณะที่มีหลายช่องทีวีเยอะ ตอนนี้ส่วนใหญ่จะหันไปลงโฆษณาผ่านป้ายต่าง ๆ ตามถนนมากกว่าเพราะรถติดบนถนน คนก็จะดูเยอะกว่ามาซื้อโฆษณาบนทีวี

ส่วนกรณีนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล (ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาให้ กสทช.คืนเงินค้ำประกันกว่าพันล้านบาทในการประมูลทีวีดิจิทัลให้แก่นางพันธุ์ทิพา ซึ่งขณะนี้ทาง กสทช.กำลังยื่นอุทธรณ์) นั้น ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร แต่เรื่องนี้แบงก์กรุงเทพแค่ค้ำประกันเท่านั้น คิดว่าก็คงอีกหลายปี

Q : สินเชื่อต่างประเทศเป็นอย่างไรบ้าง

ปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อต่างประเทศรวมราว 18% ของสินเชื่อรวม โดยสินเชื่อที่โตเยอะสุดตอนนี้จะเป็นในอินโดนีเซีย และเมียนมาที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวมาก ซึ่งปัจจุบันแบงก์กรุงเทพเป็นแห่งเดียวที่ได้ใบอนุญาตเป็นธนาคารจากรัฐบาลเมียนมา ทำให้เรามีโอกาสเยอะที่จะปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะธุรกิจอะไรที่ได้ภาษีพิเศษก็จะมีการลงทุนกันมาก โดยปีหน้าจะใช้ดิจิทัลให้บริการมากขึ้น ตอนนี้เรามีลูกค้าที่เป็นธุรกิจไทยและลูกค้าเมียนมาด้วย

ส่วนในเวียดนาม ธนาคารกรุงเทพปล่อยสินเชื่อเติบโต 15% ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้หวือหวา โดยมีแผนจะขอธนาคารกลางของเวียดนามในการขยายกรอบการเติบโตของสินเชื่อ เพราะเมื่อปีที่แล้วธนาคารได้เพิ่มทุนเพื่อให้มีศักยภาพในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ฐานลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจมากกว่ารายย่อย และกระจายทั้งคนไทย ต่างชาติ นักธุรกิจท้องถิ่น และยังปล่อยสินเชื่อให้รัฐบาลด้วย ทั้งปล่อยสินเชื่อแบบคนเดียวและปล่อยกู้ร่วมกับธนาคารอื่น (ซินดิเคตโลน) กลุ่มธุรกิจที่เราปล่อยสินเชื่อจะมีทั้งสิ่งทอ โรงงานผลิต ค้าปลีก กลุ่มต่างชาติ ที่เข้ามาก็จะเป็นจีนที่ไปอเมริกาแล้วเสียภาษี และแม้ว่าปัจจุบันเวียดนามก็เสียภาษีแล้ว แต่ค่าแรงก็ยังถูกกว่า โดยปัจจุบันธนาคารกรุงเทพในเวียดนามมี 2 สาขา และกำลังคิดอยู่ว่าจะขอเปิดเพิ่ม


ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพมีครบทุกประเทศในอาเซียนแล้ว และมีหลายสาขาด้วย ปัญหาสำคัญของเรา คือ มีพนักงานไม่เพียงพอในบางแห่ง อย่างในเวียดนามเราก็ถูกดึงตัวไปด้วย