บาทแข็งรับผล กนง.ขณะประเด็นการค้าสหรัฐ-จีนยังไม่คลี่คลาย

ค่าเงินบาท ธุรกิจแลกเงิน
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลหลักในตลาดระหว่างวันที่ 17-21 กันยายน 2561 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับ 6 สกุลเงินหลักเปิดตลาดในวันจันทร์ (17/9) ที่ระดับ 94.932 ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดในวันศุกร์ (14/9) ที่ระดับ 94.927 ก่อนที่ดัชนีค่าเงินดอลลาร์จะค่อย ๆ ปรับตัวอ่อนค่าลงระหว่างสัปดาห์ โดยปัจจัยหลักที่่ยังคงกดดันการแข็งค่าของดัชนีค่าเงินดอลลาร์ยังอยู่ที่ความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งล่าสุดในวันจันทร์ (17/9) ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรับ ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 10% ต่อการนำเข้าสินค้าของจีนซึ่งมีมูลค่าราว 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยกเว้นการเก็บภาษีนาฬิกาสมาร์ท วอทช์ จากบริษัทแอปเปิลและบริษัทฟิทบิท รวมถึงสินค้าสำคัญสำหรับผู้บริโภคอื่น ๆ อาทิ หมวกกันน็อกสำหรับการขี่จักรยานและที่นั่งสำหรับเด็กในรถยนต์ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐรายหนึ่งระบุว่า การเก็บภาษีรอบใหม่ 10% นี้จะเริ่มขึ้นในวันที่ 24 กันยายน และจะเพิ่มเป็น 25% ภายในสิ้นปีเพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทสหรัฐมีเวลาระยะหนึ่งในการโยกย้ายห่วงโซ่อุปทานไปยังประเทศอื่น ๆ

ขณะที่ก่อนหน้านี้สหรัฐได้ประกาศเก็บภาษีนำเข้าไปแล้วจากสินค้าจีนมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกดดันให้จีนปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการค้า การถ่ายโอนเทคโนโลยี และการให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนั้นแล้ว ปธน.ทรัมป์ยังเตือนว่า หากจีนดำเนินการตอบโต้ต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของสหรัฐ “เรา” จะดำเนินการเฟส 3 ในทันที โดยจะเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มอีกจากสินค้านำเข้ามูลค่าประมาณ 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมูลค่าดังกล่าวจะเป็นปริมาณที่ครอบคลุมสินค้าจีนทั้งหมดที่นำเข้ามาในสหรัฐ ทั้งนี้ภายหลังจากการประกาศปรับขึ้นภาษีของทางสหรัฐไม่นาน ในวันพุธ (19/9) รัฐบาลจีนได้ออกมาตอบโต้มาตรการการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวโดยประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรับ ในอัตราภาษี 5-10% คิดเป็นวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 กันยายนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีดังกล่าวยังต่ำกว่าระดับ 20% ที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนั้น ในวันจันทร์ (17/9) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.70/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/9) ที่ 32.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะเริ่มปรับตัวแข็งค่าระหว่างสัปดาห์จากกระแสเงินทุนไหลเข้าจากการคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเร็ววันนี้ โดยค่าเงินบาทเริ่มปรับตัวแข็งค่าอย่างมากในวันพุธ (19/9) และปรับตัวแข็งค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือนที่ระดับ 32.32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในวันพฤหัสบดี (20/9) ภายหลังจากที่มีการเปิดเผยผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยที่ประชุมมีมติ 5:2 ที่ให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% และได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางดีขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ดังเดิม พร้อมทั้งภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ กนง.ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงที่มีต่อระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน ซึ่ง กนง.เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจุบันจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% เช่นเดิมในขณะที่กรรมการอีก 2 ท่านมีความเห็นสมควรให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันนั้นมีความชัดเจนเพียงพอ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร อีกทั้งก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงินซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยได้ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 32.32-32.72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของการเคลื่อนไหวค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (17/9) ที่ระดับ 1.1629/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/9) ที่ระดับ 1.1697/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยได้รับแรงกดดันในบางช่วงจากความกังวลของนักลงทุนต่อความชัดเจนของผู้้นำสหภาพยุโรป (EU) ในการบรรลุข้อตกลงในการถอนตัวของอังกฤษ (Brexit) จากอียูภายใน 2 เดือน อย่างไรก็ดีค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนระหว่างสัปดาห์จากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและความเห็นของนายเบนัวท์ เคอร์ เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่กล่าวว่า “ถ้าหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเอื้ออำนวย คณะกรรมการกำหนดนโยบายของ ECB ควรจะมีการชี้แจงเพิ่มเติมถึงจังหวะความเร็วที่ ECB คาดว่าจะปรับลดการผ่อนคลายทางนโยบายการเงิน โดยหากเราให้ความกระจ่างมากยิ่งขึ้นเรื่องกระบวนการตอบรับของเรา สิ่งนี้ก็จะช่วยให้นักลงทุนและสาธารณชนในวงกว้างสารมารถคาดการณ์แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น” ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1616-.1803 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1775/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (17/9) ที่ระดับ 112.09/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (14/9) ที่ระดับ 117.78/79 เยน/ดอลลาร์ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเล็กน้อยจากการซื้อขายที่เบาบาง เนื่องจากตลาดการเงินญี่ปุ่นปิดทำการในวันจันทร์ (17/9) ค่าเงินเยนริ่มอ่อนค่าในวันพุธ (19/9) ภายหลังจากที่มีการเปิดเผยผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ได้เสร็จสิ้นลง โดยคณะกรรมการของ BOJ มีมติ 7 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับติดลบ 0.1% และคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไว้ใกล้ระดับศูนย์ รวมทั้งได้แสดงความคิดเห็นของนโยบายการเงินในอนาคตว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.65-112.87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.60/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ