บาทแข็ง-เงินเฟ้ออืด ฉุด กนง.ชะลอขึ้นดอกเบี้ย

ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่ผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุด (19 ก.ย. 61) มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ด้วยเสียงโหวตของกรรมการ5 เสียง ส่วนอีก 2 เสียงเห็นว่า ควรขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% ขณะที่วันถัดมา (20 ก.ย. 61) ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 32.39/41 บาท/ดอลลาร์

โดยเสียงส่วนใหญ่ของ กนง.ยังเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ยังสนับสนุนช่วยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย สอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่อยู่ 1-4% พร้อมระบุว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในปัจจุบันจะทยอย “ลดความจำเป็น”

ส่วนอีก 2 เสียงที่เสนอปรับขึ้นดอกเบี้ยเพราะเห็นว่า ความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ และกังวลว่าดอกเบี้ยต่ำนานจะทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร อีกทั้งอยากเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต หากเกิดปัญหาใดขึ้นก็จะได้ปรับผ่อนคลายลงมา

ทั้งนี้ กนง. มองเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนโดยภาคส่งออกและท่องเที่ยว พร้อมยังคงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปีนี้อยู่ที่ 4.4% และปีหน้า 4.2% แต่ปรับไส้ในบางตัว คือ ปรับเพิ่มคาดการณ์การบริโภคและลงทุนภาคเอกชน โดยคาดการณ์บริโภคปีนี้และปีหน้าอยู่ที่ 4.2% และ 3.7% ตามลำดับ เพราะรายได้และการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น ส่วนการลงทุนเอกชนคงคาดการณ์ปีนี้ไว้ที่ 3.7% แต่ปรับเพิ่มประมาณการของปีหน้าเป็น 4.5% เนื่องจากโครงการลงทุนภาครัฐชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการลงทุนย้ายฐานการผลิตมาไทย

ส่วนการอุปโภค (ใช้จ่าย) ของภาครัฐบาลปรับคาดการณ์ลดลง ทั้งปีนี้และปีหน้าเหลืออยู่ที่โต 2.3% และ 2.2% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากข้อจำกัดด้านเบิกจ่าย ส่วนการลงทุนปรับลดของปีนี้เหลือ 6.1% และปีหน้าปรับขึ้นเป็น 7.7%

ด้านการส่งออกได้ประเมินว่า สงครามการค้าสหรัฐและจีนได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวชะลอลงบ้าง ทำให้ปรับคาดการณ์มูลค่าส่งออกปีหน้าลดลงอยู่ที่ 4.3% แต่ในปีนี้ยังคงคาดการณ์เดิมไว้ที่โต 9% ส่วนมูลค่านำเข้าได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ปีนี้เป็นขยายตัว 16.9% ดังนั้นปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะลดลงเหลือ 3.54 หมื่นล้านดอลลาร์

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางเพิ่มขึ้นค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นช้ากว่าในอดีต คาดเงินเฟ้อปีนี้ขยายตัว 1.1% ปีหน้าอยู่ที่ 1.1% จากเดิมคาด 1.2%

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน และเลขานุการ กนง. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤตค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค หรือหากเงินบาทอ่อนค่าลงก็จะอ่อนน้อยกว่าค่าเงินอื่น ๆ ซึ่ง ณ วันที่ 18 ก.ย.61 ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมา 4% เทียบจากสิ้นปีที่แล้ว และมีแนวโน้มผันผวนจากความกังวลวิกฤตค่าเงินตลาดเกิดใหม่ในระยะข้างหน้า ซึ่ง กนง.ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ห่วงมานาน คือ หนี้ครัวเรือนระดับสูงที่ยังน่าเป็นห่วง เพราะยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่งผลให้การบริโภคยังไม่สามารถขยับตัวได้สูงเท่าที่ควร และการแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยสูงขึ้น ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ลดลง และยังมีอุปทานของอาคารชุดลดลงในบางพื้นที่ อีกทั้งความสามารถชำระหนี้ของเอสเอ็มอี ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายผ่อนคลายนาน ก่อให้เกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น จนทำให้เกิดความเปราะบาง

นอกจากนี้ กนง.ยังระบุให้ติดตามเรื่องการเลือกตั้งของไทย ที่เป็นอีกปัจจัยของความไม่แน่นอนด้วย

ด้าน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง มีความเห็นว่า แม้ กนง.จะมีความเป็นอิสระในการพิจารณาดอกเบี้ยนโยบาย และล่าสุดเสียงแตกเพิ่มขึ้น ทำให้เห็นแนวโน้มคงต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูให้เหมาะสมว่าเมื่อไหร่จะปรับขึ้น ซึ่งแม้ว่า กนง.จะมีอิสระ แต่ก็ต้องรับผิดชอบต่อประเทศด้วย

“การขึ้นก็ต้องขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม และไม่ทำให้ประเทศมีปัญหา ไม่กระทบเซ็กเตอร์ต่าง ๆ ที่มีปัญหา เช่น ถ้าขึ้นเร็วมากจนเกินไป เงินก็อาจจะไหลเข้ามาอีก เงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้นอีก ก็อาจจะไม่ดี หรือขึ้นเร็วมากเกินไป แทนที่เงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบ ก็ไม่เข้าเป้า จากที่ขณะนี้แตะขอบล่างเล็กน้อย เหล่านี้เขา (กนง.) ก็ต้องชั่งน้ำหนัก แต่ถ้ามองว่าโมเมนตัมดีมาก จะขึ้นตั้งแต่ตอนนี้ก็โอเคขึ้นกับตัวเลขที่ดู และหากมองว่าปีหน้าอัตราเงินเฟ้อจะลดลง แล้วจะขึ้นดอกเบี้ยทำไม” รมว.คลังกล่าว

นอกจากนี้ หากกังวลต่อสงครามการค้าจะกระทบเศรษฐกิจไทย ก็ยิ่งไม่ควรรีบขึ้นดอกเบี้ย เพราะถ้าสงครามการค้าเกิดผลกระทบมาก ก็จะยิ่งเป็นปัญหาไปอีก ดังนั้น ควรจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และดูผลกระทบว่าหนักเพียงใด

ส่วนความกังวลว่า อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูง (เสิร์ชฟอร์ยีลด์) ก็ไม่เกี่ยวเพราะส่วนใหญ่จะเป็นรายใหญ่ที่มีพฤติกรรมนี้ ซึ่งก็ดูแลความเสี่ยงเป็น

นอกจากนี้ รมว.คลังยังกล่าวถึง กนง.กังวลสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ กลุ่มเอสเอ็มอีมีปัญหาหนี้เสียนั้นก็ไม่ควรขึ้นดอกเบี้ย เพราะกลุ่มนี้จะยิ่งแย่ไปใหญ่

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ชี้ว่า ปัจจัยที่จะเอื้อต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. คือ ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งกนง.ก็ปรับประมาณการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนสูงขึ้น ช่องว่างการผลิตของไทยปิดลงในไตรมาสแรกปี 2018 ชี้เศรษฐกิจไทยโตสูงกว่าระดับศักยภาพต่อไป ขณะที่กังวลต่อเสถียรภาพทางการเงินต่างๆ ขณะที่ปัจจัยที่ยังไม่เอื้อต่อการขึ้นดอกเบี้ย มีอัตราเงินเฟ้อที่ขึ้นช้า แม้ว่าเศรษฐกิจจะโตเต็มศักยภาพ และการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับสกุลภูมิภาค และอีกประเด็นที่ กนง.ไม่ได้สื่อสารไว้ คือ ดอกเบี้ยส่วนต่างระหว่างไทยกับสหรัฐ แต่กรรมการ กนง.บางรายเห็นว่า ไทยสามารถรับมือกับแนวโน้มการเงินที่ตึงตัวขึ้นในต่างประเทศได้ EIC จึงมองว่า กนง.น่าจะขึ้นดอกเบี้ยในรอบการประชุมต้นปีหน้า หรืออย่างเร็วก็รอบประชุมปลายปีนี้ (19 ธ.ค. 61) โดยจับตาตัวเลขเงินเฟ้อช่วงที่เหลือจะขึ้นสูงหรือไม่ และเสถียรภาพทางการเงินมีความเปราะบางแค่ไหน

ส่วน ธ.กรุงไทยคาดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบประชุมวันที่ 19 ธ.ค. 61 นี้ และรอดูผลก่อนจะปรับขึ้นอีกครั้งในครึ่งหลังของปี 2562 ด้านธนาคารกสิกรไทยฟันธงว่า ปีหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในปลายไตรมาส 1/62 และขึ้นอีกครั้งท้ายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 โดยรวมจะเห็นขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50% ในปีหน้า

แต่ที่แน่ ๆ ทางธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) ที่จะประชุมในวันที่ 25-26 ก.ย.นี้ มีสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% มาอยู่ที่ 2-2.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.75-2% และจะขึ้นอีกครั้งในปลายปีคาดจะอยู่ที่ 2.25-2.50% ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐสูงถึง 1% ขณะที่ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ได้ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยกันแล้ว