ดอลลาร์ฟื้นตัว หลังสถานการณ์สหรัฐ-เกาหลีผ่อนคลาย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 15 สิงหาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/8) ที่ระดับ 33.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (11/8) ที่ 33.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ขยับอ่อนค่าลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนในช่วงวันศุกร์ (11/8) หลังจากที่ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวสูงขึ้น 0.1% ในเดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากที่ทรงตัวในเดือนมิถุนายน ซึ่งแสดงถึงเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่ยังคงอ่อนแอ ทำให้นักลงทุนต่างขายค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ออกมาก่อนที่วันจันทร์ (14/8) การแถลงการณ์ของนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ซึ่งเขาได้กล่าวว่า เขาคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ และเฟดจะเริ่มต้นปรับลดปริมาณการถือครองตราสารหนี้ลงในเร็ว ๆ นี้ แต่อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่า การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจจะปรับเปลี่ยนไปอย่างไร ทั้งนี้ ถ้าหากการคาดการณ์ปรับตัวไปในแบบที่สอดคล้องกับความคาดหวังของเขา เขาก็จะสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในช่วงต่อไปในปีนี้ โดยถ้อยแถลงของนายดัดลีย์เรื่องภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับสูงขึ้น โดยถ้อยแถลงของเขาเป็นการตอบโต้ต่อการตั้งข้อสงสัยในระยะนี้ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมจริงหรือไม่ ในปีนี้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง และตั้งเป้าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้ง แต่หลังจากที่ภายหลังอัตราเงินเฟ้อร่วงลงสู่ระดับราว 1.5% เพียงในช่วงไม่กี่เดือน ซึ่งอยู่ห่างจากระดับเป้าหมายที่เฟดตั้งไว้ที่ 2% และปัจจัยนี้ทำให้นักลงทุนคาดการณ์กันว่า มีโอกาสเพียงราว 40% เท่านั้นที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ ส่วนอีกประเด็นที่ว่าเฟดวางแผนจะประกาศว่าจะเริ่มต้นปรับลดขนาดพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้ลงเมื่อใดนั้น เขาก็แสดงความคิดเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะประกาศเรื่องนี้ในการประชุมช่วงกลางเดือนกันยายน และเป็นที่คาดการณ์ว่าพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้จะมีขนาดหดเล็กลงสู่ 2.5-3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเวลาผ่านไป 5 ปี โดยพอร์ตลงทุนดังกล่าวมีขนาดราว 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการกะตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากเกิดวิกฤตการเงินปี 2007-2009

อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นแรงหนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็คือ สถานการณ์ระหว่างเกาหลีเหนือและสหรัฐ ดูผ่อนคลายลงหลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลเกาหลีเหนือได้ประกาศแผนการอย่างละเอียดเรื่องการยิงขีปนาวุธ 4 ลูกไปยังพื้นที่ใกล้เกาะกวม โดยสำนักข่าว KCNA ของทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือได้เลื่อนเวลาตัดสินใจเรื่องการยิงขีปนาวุธไปยังพื้นที่ใกล้เกาะกวมของสหรัฐ ในขณะที่นายคิมจับตาดูการกระทำของสหรัฐต่อไป ทางด้านรัฐบาลสหรัฐประกาศเตือนว่าสหรัฐจะสกัดกั้นขีปนาวุธลูกใดก็ตามที่มุ่งหน้าไปสู่เกาะกวมในมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.25-33.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (15/8) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1786/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/8) ที่ 1.1820/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าจะมีรายงานผลสำรวจระบุว่ามีโอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะประกาศปรับเปลี่ยนโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์ในเดือนกันยายน โดยปัจจุบันนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าอีซีบีจะเริ่มต้นปรับลด QE เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นมาจากการที่เศรษฐกิจยูโรโซนเติบโต ทั้งวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1719-1.1792 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1756/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (15/8) เปิดตลาดที่ระดับ 110.15/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/8) ที่ระดับ 109.13/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยที่ถูกนักลงทุนขายออกมา หลังจากที่สถานการณ์ระหว่างเกาหลีเหนือ และสหรัฐดูผ่อนคลายลง โดยทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.58-110.47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.39/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์นี้ ดัชนีการผลิตของรัฐนิวยอร์กเดือนสิงหาคมของสหรัฐ (15/8), ราคานำเข้าและส่งออกเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (15/8), ยอดค้าปลีกเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (15/8), ตัวเลขสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนมิถุนายนของสหรัฐ (15/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.90/-0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.20/-0.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ