ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ตลาดจับตาการประชุมเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 24 กันยายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/9) ที่ 32.47/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/9) ที่ 32.38/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าจากความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน หลังจากที่สหรัฐและจีนจะเก็บภาษีนำเข้าใหม่จากสินค้าของแต่ละฝ่ายในวันนี้ ซึ่งทำให้สงครามการค้าที่ร้อนแรงระหว่างสองประทเศรุนแรงขึ้น โดยมาตรการของสหรัฐเพื่อเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ และมาตรการตอบโต้ของจีนเพื่อเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐมูลค่า 6.0 หมื่นล้านดอลลาร์ จะมีผลบังคับใช้ในวันนี้ เจัาหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวเปิดเผยในสัปดาห์ที่แล้วว่า สหรัฐจะยังคงดึงให้จีนมีส่วนร่วมใน “แนวทางเชิงบวกในอนาคต” ต่อไป แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ส่งสัญญาณความตั้งใจที่จะประนีประนอม โดยแหล่งข่าวได้แจ้งว่าจีนได้ยกเลิกการเจรจาการค้ากับสหรัฐ และจะไม่ส่งนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีของจีนไปยังสหรัฐในสัปดาห์นี้ ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจบริษัทมาร์กิตเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นของสหรัฐเพิ่มขึ้นเกินคาดสู่ 55.6 ในเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับ 54.8 ในเดือน ส.ค. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.41-32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.41/43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (24/9) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1747/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/9) ที่ 1.1779/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยการประชุมสุดยอดเรื่อง Brexit ทำให้นักลงทุนตั้งข้อสงสัยว่าอังกฤษกับสหภาพยุโรป (อียู) จะสามารถทำข้อตกลงเรื่อง Brexit ได้หรือไม่หลังจากนาง
เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษเปิดเผยในวันศุกร์ว่า อียูต้องให้ข้อเสนอที่เป็นทางเลือกสำหรับ Brexit และระบุว่าการเจรจามาถึงทางตัน หลังจากบรรดาผู้นำยุโรปปฏิเสธแผนของเธอโดยไม่มีการอธิบายเหตุผลอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ผลสำรวจพบว่า ภาคธุรกิจของยูโรโซนชะอตัวอีกครั้งในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นสัญญาณอีกตัวที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวสูงสุดแล้ว แม้ความเชื่อมั่นดีดตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 23 เดือนในเดือน ส.ค. ทั้งนี้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) คอมโพสิตของมาร์กิตสำหรับยูโรโซน ลดลงสู่ระดับ 54.2 ในเดือน ก.ย. จาก 54.5 ในเดือน ส.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในผลสำรวจของรอยเตอร์คาดไว้ที่ 54.4 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1727-1.1768 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1764/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้ (24/9) เปิดตลาดที่ระดับ 112.59/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (21/9) ที่ระดับ 112.74/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันสกุลเงินเยนเคลื่อนไหวเล็กน้อยจากการซื้อขายที่เบาบางเนื่องจากตลาดการเงินญี่ปุ่นปิดทำการในวันนี้ โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของผู้บริโภคญี่ปุ่นปรับขึ้นเล็กน้อยในเดือน ส.ค. แต่ยังคงอยู่ห่างจากระดับเป้าหมายที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ตั้งไว้ที่ 2% และสิ่งนี้บ่งชี้ว่า ญี่ปุ่นจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษต่อไปในช่วงนี้ ทั้งนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นในไตรมาส 2 หลังจากหดตัวลงในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยเศรษฐกิจได้รับแรงหนุนจากรายจ่ายทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในไตรมาส 2 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่ไม่แน่นอน เนื่องจากความขัดแย้งทางการค้าทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นและญี่ปุ่นประสบภัยธรรมชาติหลายครั้ง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.51-112.68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.64/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือน ก.ย. (25/9), กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยยอดขายบ้านใหม่เดือน ส.ค. (26/9), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศมติการประชุม (26/9), ตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2/2018 (27/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (27/9), ข้อมูลรายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือน ส.ค. (28/9), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐในช่วงท้ายเดือน ก.ย. (28/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.10/-3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.65/-4.85 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ