โยนแบงกรื้อค่าฟี “พร้อมเพย์” ขุนคลังจวก สนช.ค้าน กม.อีเพย์เมนต์

“อภิศักดิ์” ยันแบงก์ขยับวงเงินโอนพร้อมเพย์ 7 แสนบาท/รายการ โยนแบงก์ถกกำหนดค่าฟีใหม่กันเอง อัดคนค้านกฎหมายอีเพย์เมนต์ปกป้องธุรกิจสีดำ ฟากนักวิจัย ธปท.เปิดผลสำรวจคนไทยแห่ใช้พร้อมเพย์พุ่งต่อเนื่อง ขณะที่ในส่วนนิติบุคคลยังกังวลถูกเปิดเผยข้อมูล ชี้ต้องให้เวลาปรับตัว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า วงเงินโอนผ่านระบบพร้อมเพย์ที่จะปรับให้สูงขึ้นสู่ 700,000 บาทต่อรายการ จะเกิดขึ้นแน่นอน เพียงแต่ในเรื่องอัตราค่าธรรมเนียมจะเป็นเท่าใด หรือสุดท้ายจะนำไปสู่การยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือไม่นั้น ขึ้นกับทางธนาคารจะเจรจาตกลงกัน โดยปัจจุบันระบบโอนเงินของธนาคารส่วนใหญ่หันมาใช้ผ่านระบบพร้อมเพย์ เนื่องจากต้นทุนลดลงไปได้มาก

“ต้นทุนของแบงก์ที่ทำผ่านพร้อมเพย์ถูกกว่าระบบเดิมมาก อย่างเช่น ถ้าโอนเงินผ่านระบบ SWIFT ก็แพงกว่า แถมยังเสียเงินให้ชาวบ้านเขาอีก” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายอภิศักดิ์กล่าวอีกว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีเพย์เมนต์) ได้ หลังจากนี้ เชื่อว่าผู้ใช้งานพร้อมเพย์ที่เป็นนิติบุคคลก็น่าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น

ส่วนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (กฎหมาย e-Payment) ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งกรณีมีกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายใน สนช. บางคนคัดค้านเกี่ยวกับจำนวนธุรกรรมที่แบงก์ต้องรายงานกรมสรรพากรนั้น ต้องถามว่าค้านเพื่อธุรกิจนอกกฎหมายหรือไม่

“ถามว่าคุณค้านเพราะอะไร คุณเป็นห่วงอะไร ห่วงคนทำธุรกิจสีดำ ๆ หรือไม่” นายอภิศักดิ์กล่าว

ด้านนางสาวอณิยา ฉิมน้อย นักวิเคราะห์ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการนำเสนองานวิจัยของสถาบันเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ หัวข้อ “เข้าใจ “พร้อมเพย์” บริการโอนเงินและชำระเงินทางเลือกใหม่” ว่า การลงทะเบียนใช้บริการพร้อมเพย์ตั้งแต่ ก.ค. 2559-ส.ค. 2561 มียอดสูงถึง 44.5 ล้านหมายเลข เติบโตเฉลี่ย 6% ต่อเดือน โดยมีทั้งใช้เลขประจำตัวประชาชน 28.7 ล้านหมายเลข คิดเป็น 43% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งกลุ่มนี้ต้องการได้รับความสะดวกสบายในการรับสวัสดิการ หรือเงินโอนจากภาครัฐ ตลอดจนการใช้รับคืนเงินภาษี

ส่วนกลุ่มที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือมี 15.8 ล้านหมายเลข เติบโตเฉลี่ย 10% ต่อเดือน และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง

ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง หรือโมบายแบงกิ้งอยู่แล้ว โดยหันมาใช้พร้อมเพย์เพราะสะดวกกว่า และค่าธรรมเนียมต่ำกว่าระบบเดิม ซึ่งพบว่าผู้ใช้โมบายแบงกิ้งลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้วกว่า 42%

นางสาวอณิยากล่าวว่า ส่วนการลงทะเบียนโดยใช้หมายเลขอ้างอิงอื่น ๆ เช่น เลขทะเบียนนิติบุคคล เลขผู้ออกใบแจ้งหนี้ และหมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์มีรวม ๆ กันประมาณ 1.5 แสนหมายเลขขึ้นกับการใช้งาน โดยส่วนใหญ่ที่ใช้เลขทะเบียนนิติบุคคลและเลขใบแจ้งหนี้ จะเป็นนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ส่วนผู้ลงทะเบียนด้วยอีวอลเลตจะเป็นผู้ใช้บริการอีวอลเลตเป็นประจำ

“คนหันมาใช้พร้อมเพย์โอนเงินข้ามธนาคารมากขึ้น เพราะค่าธรรมเนียมต่ำ โดยส่วนใหญ่โอนในมูลค่าต่ำไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 82% ของธุรกรรมทั้งหมด และส่วนใหญ่ 81% ของมูลค่าธุรกรรมโอนผ่านเครื่องโทรศัพท์มือถือ โดยการโอนผ่านมือถือเติบโตเฉลี่ย 31% ต่อเดือน ซึ่งสอดคล้องกับการใช้โมบายแบงกิ้งที่เพิ่มขึ้น” นางสาวอณิยากล่าว

นอกจากนี้ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การโอนเงินในภาคเอกชนมีธุรกรรมเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ปี 2561 ที่ผ่านมาเพิ่มกว่าปกติถึง 6 เท่า ซึ่งมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์หันมาส่งรายการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์แทนช่องทางเดิมที่ผ่านระบบ online retail funds transfer (ORFT) และการแข่งขันลดค่าธรรมเนียมโอนเงินในช่วงที่ผ่านมา


นายอรรถเวช อาภาศรีกุล นักวิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท. กล่าวว่า สำหรับการขยายวงเงินการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 700,000 บาทต่อรายการ น่าจะเห็นได้ภายในปี 2561 นี้ อย่างไรก็ดี จะทำให้ปริมาณธุรกรรมลดลงเพราะวงเงินต่อรายการสูงขึ้น แต่ก็จะทำให้ภาคธุรกิจใช้บริการได้สะดวกขึ้น ซึ่งการที่กลุ่มนิติบุคคลยังใช้พร้อมเพย์ไม่มากช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากยังไม่เข้าใจระบบพร้อมเพย์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะบางรายอาจจะกลัวการถูกเปิดเผยข้อมูล ซึ่งต้องให้ระยะเวลาคนกลุ่มนี้เพื่อปรับตัว